ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยผันผวนหนัก จากความกังวล กรณี “เอเวอร์แกรนด์” บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับสองของจีน ขาดสภาพคล่อง เผชิญวิกฤติหนี้สิน มูลค่า 3 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ คาดจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจีน จากการที่บริษัทขนาดใหญ่ถือครองสินทรัพย์ของเอเวอร์แกรนด์ผ่านหุ้นกู้ และจะส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ในฐานะประเทศคู่ค้า

เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าในวันที่ 23 ก.ย.นี้ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่รายนี้ คงไม่สามารถชำระดอกเบี้ยพันธบัตร มูลค่า 83.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับนักลงทุนในจีนและนักลงทุนทั่วโลกได้ และอีก 47.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คงไม่สามารถจ่ายได้ในวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งเป็นหนี้เพียงส่วนหนึ่งของหนี้สินทั้งหมด
ในปีหน้าต้องจ่ายอีก 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง กลายเป็นความเสี่ยงล้มละลาย หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะทำให้ตลาดการเงินโลกปั่นป่วนไปทั่ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้จะต้องล้มตามไปด้วย

...
“รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตกรณีการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์ เป็นสัญญาณสำคัญเตือนว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งในไทยเมื่อปี 2540-2542 หรือไม่ แม้ไม่ได้เป็นแบบวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2551-2552 แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าเอเวอร์แกรนด์ คงไม่สามารถชำระหนี้จำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนในจีนและนักลงทุนทั่วโลก กว่า 305,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2% ของจีดีพีของจีน
หากเทียบกับหนี้สินรวมของเครือข่ายบริษัทเอเวอร์แกรนด์ มีขนาดใหญ่เกือบ 2 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติของไทย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศจีนชะลอตัวลง โดยทางการจีนได้อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบสูงถึง 9 หมื่นกว่าล้านหยวน หรือ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.5 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามสู่วิกฤติระบบการเงิน
ที่ผ่านมาราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ ปรับฐานลงมาตั้งแต่ต้นปีกว่า 80% และราคาพันธบัตรของบริษัท กลายเป็น พันธบัตรขยะ หรือ Junk Bond ไปแล้ว มูลค่าลดลงต่ำสุดเหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตลาดการเงิน มองว่าบริษัทนี้ไม่สามารถชำระหนี้มหาศาลได้อย่างแน่นอน

“การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของทางการจีน น่าจะช่วยประคับประคองตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ไม่ให้ตื่นตระหนกได้บ้าง แต่ผลกระทบได้เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรเอเชียรวมทั้งไทยแล้ว มีเงินไหลออกในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เพราะหนี้สินทั้งหมดของเอเวอร์แกรนด์เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคารในจีนและทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียประมาณ 249 แห่ง และคงเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน”
ทางเลือกที่ดีที่สุด ต้องบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ ไม่ก่อให้เกิดจริยวิบัติ ในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงิน และไม่ขัดแย้งกับแนวทางการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และอีกด้านหนึ่งเป็นการลดความตื่นตระหนกของตลาดการเงิน ผลกระทบต่อสถาบันการเงินและประชาชน

หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการจีนด้วยมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนไม่น้อย รวมถึงสถาบันการเงินและเจ้าหนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้ว่าสถาบันขนาดใหญ่ในจีนหลายแห่ง จะมีการกันสำรองหนี้เสียและลดการปล่อยกู้ให้กับเอเวอร์แกรนด์ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม แต่ความเสียหายอาจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
...
กรณีของเอเวอร์แกรนด์ อาจเป็นเพียงส่วนเดียวของฟองสบู่ และการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพฤติกรรมการลงทุนเกินตัวและก่อหนี้เกินตัวของธุรกิจใหญ่ของจีน ซึ่งกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตกซ้ำรอยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และจากผลกระทบของโควิด ทำให้ปัญหาวิกฤติที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจีนจะเผยโฉมออกมาเร็วขึ้น

แต่การที่จีนมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ต่ำ รวมทั้งการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางที่มีคุณภาพพร้อมกับการปรับแต่งระบบเศรษฐกิจแบบตลาดให้มีความเป็นธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ “วิกฤตการณ์หนี้สินในจีนครั้งนี้” ไม่ลุกลามและรุนแรงเท่าวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
แม้ปัญหาหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ กำลังจะติดตามมา จะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจในเอเชียก็ตาม แต่คาดว่าจะส่งผลต่อความผันผวนต่อตลาดการเงินในระยะนี้ และน่าจะทำให้เงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของเอเชียต่อเนื่อง กดดันให้เงินสกุลเอเชีย รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลง โดยทิศทางค่าเงินบาท อาจอ่อนค่าทะลุระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
...

เมื่อเสริมเข้ากับดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มอาจติดลบในปีนี้โดยในไตรมาสแรกปี 2564 ดุลบัญชีเงินสะพัดขาดดุลแล้ว 2.6 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าในไตรมาส 2 และ 3 จะยังคงขาดดุลต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลลดลง คาดว่าปีนี้ดุลบัญชีเงินทุนมีเงินไหลออกสุทธิ ไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และขณะนี้ต้องไปสำรวจมีกองทุนและสถาบันการเงินของไทยไปลงทุน หรือปล่อยกู้ให้กับเอเวอร์แกรนด์ หรือบริษัทอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน
ด้านผลกระทบต่อการลงทุนและตลาดการเงินไทยอยู่ในวงจำกัด คงสร้าง Sentiment ที่เป็นลบต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และตลาดการเงินระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ในไทยส่วนใหญ่ ชะลอการลงทุนจากปัญหาโควิด และมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว ส่วนที่จะมีปัญหาน่าจะเป็นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้โครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายที่หวังกำลังซื้อจากจีนนั้นคงหวังมากไม่ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้.