ในช่วงฤดูมรสุม ปริมาณฝนตกมากขึ้น 2-3 เท่า มีความเสี่ยงจะเผชิญเหตุการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในหลายภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย จะต้องประเมินพื้นที่ใดมีความล่อแหลม และเปราะบางต่อเรื่องนี้
ไม่เท่านั้นยังมีความเสี่ยงจะเผชิญภัยแล้ง และคลื่นความร้อน เพิ่มขึ้น 2-4 เท่า จากรายงานฉบับที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ได้ส่งสัญญาณสีแดงไปยังนานาประเทศ ให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ผ่านการประเมินรายงานต่างๆ มากว่า 10 ปี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC ได้ออกรายงานฉบับที่ 6 ส่งสัญญาณสีแดง (Code red) ไปยังนานาประเทศ ก่อนการประชุมโลกร้อน COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ในปลายปีนี้
...

รายงานนี้มาจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ขององค์ความรู้ล่าสุด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เน้นย้ำคำสำคัญ 3 คำ ก่อให้เกิดผลกระทบทั่วโลก (Widespread) รวดเร็ว (Rapid) และรุนแรงขึ้น (Intensify) เพื่อให้หลายประเทศ และไทย เตรียมความพร้อมในการรับมือ และสามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

จากสัญญาณอุณหภูมิเฉลี่ยปัจจุบันของโลก ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้เกิดความรุนแรงของสภาพอากาศ เพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 เท่าในอนาคต แต่ขึ้นอยู่กับภาพฉายอนาคตของโลก ที่ผู้นำทั้งหลายตกลง และปฏิบัติจริงร่วมกัน

ปริมาณฝนตกมากขึ้น 2-3 เท่าในฤดูมรสุม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญเหตุการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และโคลนถล่ม ในหลายภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของประเทศไทย จะต้องประเมินตนเอง บริเวณใดที่มีความล่อแหลม เปราะบางต่อเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยแล้ง และคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร การอุปโภคและบริโภค น้ำเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่สำคัญต่อความอยู่รอดของประเทศ
...

ในส่วนของจำนวนพายุหมุนที่มีขนาดรุนแรง ประเภทพายุไต้ฝุ่น ระดับ 3-5 จะมีมากขึ้น และรุนแรงขึ้น ทำให้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเล มีความล่อแหลมมากขึ้น ขณะที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยสถานการณ์เลวร้ายที่สุด จากความไม่แน่นอนของการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก จะทำให้ระดับน้ำทะเล เฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 0.40-0.60 เมตร ภายในปี 2593 และเพิ่มเป็น 1.6-2.2 เมตร ภายในปี 2643

...
“เป็นสัญญาณเตือนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ล่อแหลม และเปราะบางสูง ยังไม่รวมปัจจัยจากแผ่นดินทรุดตัว คลื่นพายุ และภัยคุกคามตามที่ IPCC ประเมินมา ไม่มีเวลามากพอที่จะเจรจาต่อรองไปมากกว่านี้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันทำ และยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดหายนะต่อโลก และมวลมนุษยชาติจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

สำหรับภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทย ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงจากสัญญาณสีแดงนี้ และในฐานะผู้เชี่ยวชาญ IPCC ได้ทำการปรับแก้ข้อมูลในภูมิภาค และทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ และประเมินในรายละเอียดเป็นรายภูมิภาคว่า พื้นที่ใดในประเทศมีภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.
ข้อมูลเพิ่มเติมในวารสารตีพิมพ์ http://iwaponline.com/jwcc/article-pdf/doi/10.2166/wcc.2021.015/898016/jwc2021015.pdf และ http://iwaponline.com/jwcc/article-pdf/doi/10.2166/wcc.2021.308/915665/jwc2021308.pdf
...