#ลุงตู่อยู่ต่อ กลายเป็นแฮชแท็กฮิตบนทวิตเตอร์ ตั้งแต่ช่วงสาย วันที่ 4 ก.ย. หลังการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นไปตามคาด "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปต่อคะแนนผ่านฉลุย พร้อมกับ 5 รัฐมนตรี

ขณะที่การเมืองนอกสภา ยังเข้มข้นดุเดือดในการเคลื่อนไหวขับไล่ "บิ๊กตู่" ออกไป จะเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่ ทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ไปต่อ หรือเกมการเมืองจะอยู่ในวังวนเดิมๆ ไม่ไปหน้ามาหลัง ในลักษณะ "ไม่เจ็บ ไม่จบ ไม่เลิก" รัฐบาลอยู่ทนทาน แม้เกิดอาการซวนเซอยู่บ้าง รอจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

นัยสำคัญ หลังศึกซักฟอก จุดเปลี่ยนการเมือง

จากการวิเคราะห์ของ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า การลงคะแนน ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีนัยสำคัญที่น่าสนใจ จากการลงคะแนนคนละพรรคพวกเดียวกัน เช่น ส.ส.งูเห่า ส.ส.ฝากเลี้ยง และการลงคะแนนคนละพวก แต่พรรคเดียวกัน ซึ่งมาจากมุ้งต่างๆภายในพรรคพลังประชารัฐ สะท้อนให้เห็นหลายอย่างที่เกิดขึ้น

...

แม้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน มีคนลงคะแนนมากที่สุด มากกว่า อนุทิน ชาญวีรกุล และศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่คะแนนไม่ไว้วางใจได้ 199 เสียง ห่างมากกว่า 5 คะแนน ซึ่งมีนัยสำคัญ เพราะอนุทิน ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 196 เสียง และศักดิ์สยาม ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 195 เสียง และมีการงดออกเสียงมากกว่า แสดงว่ามีฝ่ายค้านที่นอกเหนือจากพรรคก้าวไกล งดออกเสียง และคะแนนไม่ไว้วางใจทั้งอนุทิน และศักดิ์สยาม มีไม่ถึง 200 เสียง ซึ่งเสียงฝ่ายค้านหายไป ทั้งๆ ที่มี 212 เสียง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนไว้วางใจ 264 เสียง อาจมีปัญหาทางเทคนิค เพราะถูกขานชื่อเป็นคนแรก และส.ส.อาจมาลงคะแนนไม่ทัน ทำให้คะแนนน้อยกว่ารัฐมนตรีหลายคน และยังน้อยกว่าชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ได้ 267 เสียง ส่วนสุชาติ ชมกลิ่น ได้คะแนนไว้วางใจน้อยสุด 263 เสียง เป็นไปได้ว่าไม่สามารถเคลียร์กับกลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ จะนำไปสู่การปรับ ครม.

หลังจากนี้ไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างชัดเจน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาบอกจะไม่ยุบสภา และไม่ลาออก แต่การแก้ปัญหาในระยะสั้น จะเริ่มจากการปรับครม. ซึ่งไม่ใช่โจทย์ใหญ่ในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ แต่จะไปสู่ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ดังนั้นการต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐ และการลงคะแนนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นการแก้ปัญหาแค่ระดับหนึ่ง

เมื่อทุกอย่างลงตัว เตรียมยุบสภา ไม่เกินต้นปีหน้า

เมื่อยุทธศาสตร์อยู่ที่การเตรียมพร้อมเลือกตั้ง ทำให้การยุบสภาเป็นไปได้สูง จาก 3 ปัจจัย 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งได้ผ่านสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2. กฎหมายงบประมาณปี 2565 เน้นเรื่องการเยียวยาผลกระทบโควิดค่อนข้างมาก ให้เกิดภาพและเกิดผล และ 3. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน นอกเหนือจากการจัดวางบุคลากรภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การยุบสภา และเห็นได้ชัดจากการคลายล็อกดาวน์ เพื่อตอบสนองคนของภาครัฐ

นอกจากนี้ ต้องรอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้ง ส.ก.และ อบต.ทั่วไป คาดว่าปลายเดือน พ.ย.นี้ เพราะจะเป็นกระบวนการเช็กเรตติ้งของพรรคการเมือง และวางยุทธศาสตร์ไปสู่การเมืองท้องถิ่น ซึ่งประเมินว่าจะมีการยุบสภาในช่วงปลายปีนี้ หรือไม่เกินต้นปีหน้า

“จากเดิมเคยประเมินรัฐบาลจะอยู่อย่างน้อย 2 ปี แต่ด้วยขณะนี้เกิดการระบาดของโควิด และทั่วโลกต่างมองว่าโควิดไม่หายไปจากโลกง่ายๆ ต้องมีการพัฒนาวิธีรักษา ปรับวิถีชีวิตเป็นแบบนิวนอร์มอล ทำให้ระยะเวลาในการฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่น ไม่มีทางจะฟื้นได้ภายใน 2 ปี รวมถึงทั่วโลก”

...

แม้การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สะท้อนให้เห็นเสถียรภาพของพรรคพลังประชารัฐ แต่การมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ได้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะ ส.ว. 250 คน และองค์กรอิสระ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 60 ยังมีโครงสร้างแบบเดิมๆ และยุทธศาสตร์ชาติยังอยู่ ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สุดท้ายแล้วการมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะเอื้อให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ และทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคเล็กเสียเปรียบ เพราะกำหนดให้มีการคำนวณสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียง 1% ทำให้พรรคเล็กไม่มีโอกาส สะท้อนว่าการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้พรรคก้าวไกลลดขนาดลง ส่วนพรรคเล็กอื่นๆ จะหายไป แต่พรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์ จึงผลักดันให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะฐานคะแนนอยู่ที่ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

เมื่อวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ แม้มีการเคลื่อนไหวตลอด แต่คิดว่า พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ สามารถคุมอยู่ และในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้เห็น พล.อ.ประวิตร ไปนั่งข้าง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงการสนับสนุน จนสามารถผ่านสถานการณ์คับขันไปได้

...

การเมืองนอกสภา ก้าวหน้า ม็อบขยายตัว ส่อรุนแรง 

ส่วนเกมการเมืองยังคงเดินหน้าต่อไป ในลักษณะ"ไม่เจ็บ ไม่จบ ไม่เลิก" แม้รัฐบาลมีบาดแผลความบาดเจ็บ แต่ก็แก้ไขเอาตัวรอดให้ได้ โดยศึกภายในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีต่อเนื่องไม่จบสิ้น และม็อบจะไม่เลิกเคลื่อนไหว จะพยายามรวมตัวให้มากขึ้น

“การเมืองนอกสภา ยังคงก้าวหน้า แต่การเมืองในสภายังล้าหลัง ไม่ได้แก้ไขให้เกิดความสมดุลมากขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชน โดย ส.ส.ไม่สนใจ นอกจากการต่อรองทางการเมืองที่มีมากขึ้น แม้เสถียรภาพผ่านไปได้ แต่ไม่มีความชอบธรรมเรื่องความถูกผิด ทั้งที่ความชอบธรรมต้องได้รับจากประชาชน”

...

เมื่อผู้คนรู้สึกว่าไม่มีทางออก ไม่มีทางระบาย ทำให้การชุมนุมจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับความรุนแรง ไปสู่มวลชนาธิปไตย เป็นการเมืองแบบมวลชน อาจถึงขั้นคุมไม่อยู่ แต่โอกาสการจะรัฐประหารในปัจจุบัน มีน้อยมาก เพราะสังคมเปลี่ยนไปมากขึ้นในยุคโซเชียล จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อาจเกิดการรัฐประหารขึ้นได้

สถานการณ์การระบาดของโควิด ถือเป็นจุดเปลี่ยนไปทั่วโลก และเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งคนติดเชื้อ และเสียชีวิต เกิดระบบอภิสิทธิ์ชนอย่างเห็นได้ชัด เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมอย่างชัดเจน ในยุคโควิดระบาด.