โควิดคงอยู่อีกนาน พร้อมกับการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ และไม่มีใครล่วงรู้จะมีการกลายพันธุ์ จนผิดเพี้ยนไปอีกเท่าไร ต้องมีการพัฒนาวัคซีนในการต่อสู้กับไวรัสร้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อการรับมือในอนาคต
เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้การจัดหาวัคซีนโดยส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แต่ได้มีการวิจัยพัฒนาไม่หยุด เพื่อผลิตวัคซีนในประเทศให้ได้ ทั้งความร่วมมือในประเทศและต่างประเทศ
เริ่มจากการวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือ Chula-Cov19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และการวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ (DNA) ร่วมกับบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งมีโรงงานผลิตวัคซีนใน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

การวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated) ด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก โดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบัน PATH ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาวัคซีน สกัดจากโปรตีนพืชใบยาสูบ โดยบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จํากัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการวิจัยพัฒนาวัคซีน ชนิดไวรัสเสมือน (Virus-like particle :VLP) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
...
ไทย ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดไวรัล เวกเตอร์ (Viral vector) จากบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ว่าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ของไทยดำเนินการผลิตวัคซีน สำหรับภูมิภาคอาเซียน

วัคซีน ChulaCov19 ผลิตได้เร็ว ไม่รอเพาะเลี้ยงเชื้อ
ความคืบหน้าล่าสุดของวัคซีนโควิด สัญชาติไทย ในส่วนของวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับไฟเซอร์และโมเดอร์นา ได้พัฒนาต่อยอดเพื่อรับมือกับไวรัสโควิดหลายสายพันธุ์
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีน ChulaCov19 สร้างจากชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ เมื่อร่างกายได้รับจะสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น ในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน และภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย
ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการทดลองในลิงและหนู สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และสร้างภูมิคุ้มกันในระดับสูง นำมาสู่การทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัคร 72 คน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.เป็นวันแรก แบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ ในผู้มีอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และอายุ 65-75 ปี จำนวน 36 คน เพื่อศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชีย เหมาะกับการฉีดวัคซีนในปริมาณเท่าใดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ระหว่าง 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม หรือ 50 ไมโครกรัม จากนั้นจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน ประมาณเดือน ส.ค.
จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19 ผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็ว สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น

วัคซีนเชื้อตาย เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก กำลังทดสอบเฟส 1
อีกหนึ่งวัคซีนโควิด ฝีมือคนไทย ชนิดเชื้อตาย ด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก โดยองค์การเภสัชกรรมร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้น มีการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม ทำให้ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรค ได้ทดสอบความเป็นพิษในหนูแรทที่อินเดีย และในหนูแฮมสเตอร์ที่สหรัฐฯ พบว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
กระทั่งเริ่มทดสอบในมนุษย์ กับอาสาสมัคร ระยะที่ 1 จำนวน 210 คน อายุ 18-59 ปี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา เริ่มจากอาสาสมัคร 18 คน ด้วยวัคซีนขนาดต่ำที่สุด และเพิ่มวัคซีนขนาดที่สูงขึ้น จากนั้นศึกษาในอาสาสมัคร 192 คน ไปวิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การทดสอบ ในระยะที่ 2 กับอาสาสมัคร อายุ 18-75 ปี จำนวน 250 คน ประมาณเดือน ก.ค.นี้
...
จากการทดสอบระยะที่ 2 คาดว่าปลายปี 2564 จะได้สูตรที่ดีที่สุด ก่อนทดสอบในระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัย และการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน คาดปี 2565 จะสามารถยื่นขอทะเบียนตำรับและผลิตได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี โดยโรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ใน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรม ได้ความร่วมมือจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ทำการทดสอบวัคซีนในการต้านเชื้อกลายพันธุ์อีกด้วย

วัคซีนใบยาสูบ กำลังอวดโฉมประสิทธิภาพ ส.ค.นี้
ในส่วนความก้าวหน้าของวัคซีนโควิด สกัดจากโปรตีนพืชใบยาสูบ รายแรกของภูมิภาคเอเซีย มีต้นทุนถูก สามารถผลิตได้ 10 ล้านโดส ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยฝีมือทีมนักวิจัยไทย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมทดสอบในมนุษย์ในเร็วๆ นี้ ภายหลังโรงงานผลิตวัคซีน ขนาด 1,000 ตารางเมตร ใกล้แล้วเสร็จ เพื่อผลิตวัคซีนลอตแรก ก่อนทดสอบในมนุษย์ ประมาณเดือนส.ค.เป็นต้นไป เพื่ออวดโฉมให้เห็นประสิทธิภาพ สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ประหลาดๆ ได้อย่างครอบคลุม
...

3 วัคซีนต้นแบบ ผ่านทดลองในหนู สปีดตกช่วงหลัง
ขณะที่การพัฒนาวัคซีนโควิดของไทย มี “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย นวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หนึ่งในทีมไทยแลนด์ ได้พัฒนาวัคซีนโควิดต้นแบบ 3 ชนิด ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว 1. วัคซีนชนิดไวรัสเสมือน(Virus-like particle :VLP) สร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัสแต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัส 2. วัคซีนที่มีการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปก์ของไวรัสโควิด สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และโควิด ในเวลาเดียวกัน
3. วัคซีนประเภท adenovirus vector-based มีการปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อ สามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว และเพิ่มยีนที่กําหนดการสร้างโปรตีนสไปก์ในสารพันธุกรรมของไวรัส เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมา

...
ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน ดร.อนันต์ รู้สึกว่าไทยไปช้ากว่าเวียดนาม จากเมื่อก่อนนักวิจัยจากเวียดนามเคยขอเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากแล็บของไทย จนเวลาผ่านไปไม่กี่ปี เวียดนามกำลังทดสอบวัคซีนโควิด เฟส 3 และมีวัคซีนอีกหลายตัวกำลังตามมา
“สปีดตอนเริ่มเราดูดีมาก แต่ช่วงส่งไม้ต่อเรามีกระบวนการต่างๆ จนเสียเวลาไปกับอะไรมากมาย ทำให้วิ่งไม่ทันคู่แข่งจริงๆ แต่ทีมชาติไทยก็วิ่งอยู่ ช่วยกันผลักช่วยกันดัน ไม่ต้องเข้าที่ 1 เอาเหรียญทองก็ได้ ขอให้ได้เข้าเส้นชัยก็พอ ไม่แน่วัคซีนทางเลือกตัวใหม่ของไทย อาจจะมาจากเวียดนาม”.