• ไทยเผชิญกับโควิด แพร่ระบาดในคนไม่หยุด หวังว่าวัคซีนจะเป็นตัวช่วยหยุดวิกฤติครั้งนี้ กระทั่งเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ "ลัมปี สกิน" ในโค กระบือ ซ้ำเข้าไปอีก ตามมาด้วยโรค "เพิร์ส" กำลังระบาดในหมู

  • ยิ่งทำคนวิตกหนัก กับภาพที่มีการเผยแพร่ออกไปขณะทำลายซากหมูจำนวนมาก เกรงว่าจะเป็นโรคระบาดลึกลับในหมู ไม่ใช่โรคเพิร์ส (PRRS) แต่อาจเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ก็ได้ ซึ่งไม่มีวัคซีนรักษา เพราะอาการของโรคใกล้เคียงกันมาก

  • กรณีเกิดโรคระบาดในหมู พื้นที่ จ.สงขลา โดยหมูที่ติดเชื้อมีปื้นแดงบริเวณผิวหนัง เป็นภาวะคั่งเลือดโดยเฉพาะใบหู อาจมีสีม่วงคล้ำ เป็นไข้นอนซม เบื่ออาหาร และชักดิ้น ตายในที่สุด เพื่อการควบคุมไม่ให้แพร่ระบาด ต้องทำลายหมูในฟาร์มทั้งหมดด้วยการฆ่าและฝังกลบ โดยมีการบ่งชี้ว่าหมูเหล่านี้ติดเชื้อโรคเพิร์ส ไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู แต่อย่างใด

อหิวาต์แอฟริกาในหมู ติดง่าย ตายมาก เหมือนโควิด

"รศ.ดร.นสพ.อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล" ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันขณะนี้ไทยยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู โดยกรมปศุสัตว์ กำลังเฝ้าระวังรอยต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย ไม่ให้เล็ดลอดเข้ามา หากเข้ามาจะเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลกระทบหนักต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงหมู เนื่องจากไม่มีวัคซีนรักษา

...

“โรคนี้ติดต่อจากสารคัดหลั่ง และมีเห็บเป็นพาหะ คล้ายกับลัมปี สกิน ที่ระบาดในโค กระบือ มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ แต่โรคอหิวาต์แอฟริกา หากหมูติดเชื้อ จะมีอัตราการตายสูง ถ้าเข้ามาในไทยจะแย่ เพราะติดง่าย เป็นโรคในสัตว์ไม่เคยมีในไทยมาก่อน เหมือนโควิด ระบาดในหมูเท่านั้น ไม่ติดสู่คน ยังไม่มีรายงานการเกิดอย่างชัดเจนในไทย”

ขณะที่ โรคเพิร์ส อาการทางระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจ เคยเกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2537 จึงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ซึ่งการติดต่อมาจากการดมและเลีย ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ปัสสาวะ อุจจาระของสัตว์ที่ป่วย รวมถึงน้ำเชื้อในการผสมเทียม และการติดต่อจาก ยุง แมลงวันบ้าน แมลงดูดเลือดอื่นๆ เป็นพาหะนําโรค และปัจจุบันจากผลตรวจในห้องปฏิบัติการ เชื้อนี้อาจรุนแรงมากขึ้น จากหลายปัจจัย และอาจกลายพันธุ์ ทั้งจากสายพันธุ์ ชนิด 1 และชนิด 2 หลังเคยแพร่ระบาดมาก่อนในยุโรป และอเมริกาเหนือ

สถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ "เพิร์ส" หายไป กลับมาอีก

เพื่อความเข้าใจมากขึ้น กับสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ในไทย ทางด้าน "นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคในหมูขณะนี้ ทางกรมปศุสัตว์ ได้เข้าไปควบคุมการระบาดในทุกโรคที่เกิดขึ้น ทั้งโรคปากและเท้าเปื่อย และทุกๆ โรค ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ ซึ่งมีโรคเพิร์ส รวมอยู่ด้วย โดยเข้ามาในไทย เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้ทำลายระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู หากพื้นที่ใดสงสัยว่าจะเกิดการระบาดของโรคนี้ ได้ให้อำนาจกับปศุสัตว์ในพื้นที่ทำการสอบสวนโรค เพื่อบ่งชี้โรค

หากย้อนไปในอดีต พบว่าโรคในสัตว์หากเคยเกิดขึ้นแล้วในไทย จะไม่หมดไปจากประเทศ จะมีการระบาดเป็นช่วงๆ รวมถึงโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ก็เคยเกิดขึ้น หากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และระบบสุขาภิบาลไม่ดี เช่น การให้อาหารหมู จนเกิดโรคทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มเปิด และมีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์

“ยกตัวอย่างโรคไข้หวัดนก เคยเกิดขึ้นในปี 2547 และยังอยู่ในไทย แม้สามารถควบคุมป้องกันได้ตั้งแต่ปี 2552 แต่โรคพวกนี้บอกไม่ได้จะปลอดไปจากประเทศ ถ้าโรคใดเคยเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจเกิดอีกเป็นระลอก บางทีสงบในบางช่วง”

...

หมู-ไก่ติดเอดส์ เฟกนิวส์ ไทยไร้อหิวาต์แอฟริกาในหมู

ส่วนการแชร์ข้อมูลหมูไก่ติดเชื้อเอดส์ ไม่เป็นความจริง เป็นข้อความเท็จมาตั้งแต่ปี 2551 และนำมาแชร์อีกในช่วงนี้จากผู้ไม่หวังดี และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพื้นที่ที่มีการอ้างถึง ยังไม่เคยพบกรณีหมูหรือไก่เป็นโรคเอดส์ รวมถึงในทุกๆ พื้นที่ของไทย

ขณะที่การระบาดของโรคเพิร์สในหมูขณะนี้ เป็นการระบาดเฉพาะฟาร์มรายย่อย โดยภาพการฝังกลบซากหมูที่เกิดขึ้นจนดูน่ากลัว เป็นภาพหลุดจากเจ้าหน้าที่บางหน่วยในพื้นที่ และหมูที่ตายมีจำนวนไม่มาก ซึ่งมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา และมีรายงานสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว จากราคาหมู ตกต่ำลงไป ได้ขยับขึ้นมาเช่นกัน

แต่ต้องยอมรับจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ในการส่งออกหมูไปเวียดนาม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้วเพื่อรักษาตลาด โดยยืนยันไทยปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ซึ่งอัตราการตายสูง 80% และประชากรหมูในไทยรวมทั้งหมูขุน ยังคงมีจำนวน 22 ล้านตัวต่อปี ไม่ได้ลดลงจากโรคระบาด เนื่องจากการเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตข้ามจังหวัด หากไม่มีการจับกุม จะนำโรคจากสัตว์ไปติดต่อในพื้นที่อื่น

...

กำจัดแมลง พาหะ "ลัมปี สกิน" วัวตายแล้ว 300 กว่าตัว

ด้านสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ได้ออกมาตรการควบคุมและสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศเพื่อป้องกันโรค พร้อมกับการใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะนำโรค สามารถบินไปไกลได้มากถึง 50 กิโลเมตร โดยการควบคุมโรคได้ผลดี จากจำนวนโค กระบือ 10 ล้านตัว มีการป่วยติดโรค 3 หมื่นกว่าตัว และตายไป 300 กว่าตัว ซึ่งระบาดใน 43 จังหวัด ส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน

“ชาวบ้านเริ่มมีการติดตั้งไฟป้องกันแมลง เมื่อไม่มีแมลงพาหะนำโรค ก็จะควบคุมได้ และโรคลัมปี สกิน อัตราการตายต่ำ สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-2 เดือน ขนของวัวจะขึ้นได้ตามปกติ ตรงกันข้ามกับโรคแอนแทรกซ์ในวัว ที่อัตราการตายสูงกว่ามาก”.

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา

กราฟิก : sathit chuephanngam