• ผ่านไปแบบง่ายๆ ในห้วง 3 วัน การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระที่ 1 เป็นไปตามคาดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านฉลุยด้วยคะแนน 268 ต่อ 201 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง แม้ฝ่ายรัฐบาลถูกตราหน้า”ตอบไม่ได้ไปไม่เป็น” ก็ตาม

  • แม้พรรคฝ่ายค้าน พยายามเต็มที่ในการอภิปรายโจมตี โดยเฉพาะงบจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม และความล้มเหลวบริหารจัดการวัคซีนโควิด แต่ก็ไม่สามารถคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตามที่ได้ประกาศจองกฐินไว้ก่อนหน้า

  • รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ไม่แตกแถวแน่นอน แม้ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายเชิงตัดพ้อ "ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับบ้านเราเถอะ” เพราะงบกระทรวงสาธารณสุข ถูกตัด 4,338 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็นด่านหน้าในการควบคุมการระบาดของโควิด แต่นั่นเป็นเพียงการแสดงออก อาจเกิดจากความอัดอั้น

ระบบงบไทยล้าหลัง เพราะรัฐรวมศูนย์อำนาจ  ต้องปฏิรูป 

ไม่แปลกเลยที่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวการอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ เป็นเพียงลิเกโรงใหญ่ที่ไว้ต่อรองผลประโยชน์ เอาวัคซีน เอาสัมปทานสร้างตึก สร้างรถไฟฟ้า ก่อนจะลงมติรับหลักการ แสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงโรงลิเก อภิปรายอย่างราชสีห์ แต่ลงมติอย่างกับหนู

...

ปัญหาอาจไม่เกิดขึ้น และถูกเปรียบเปรยเป็นงบประมาณฉบับโรงลิเก หากมีการปฏิรูประบบงบประมาณกันอย่างจริงจัง ในความเห็นของ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า จริงๆ แล้ว โครงสร้างของงบประมาณปี 2565 ไม่ได้ต่างจากงบประมาณปีที่แล้ว โดยงบลงทุนเป็นสัดส่วนที่น้อย ประมาณ 20% และ 70% เป็นค่าใช้จ่ายประจำ แม้ตัดลดภาพรวมงบประมาณปี 2565 เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณปี 2564 เคยมีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท หรือลดลง 5.60% เนื่องจากกระบวนการเก็บรายได้ประมาณการปี 2565 ลดลง 10% ทำให้ต้องปรับลดงบประมาณลง แต่ยังเหลือช่องว่าง โดยมีพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน เข้ามาแทนที่

“ทุกหน่วยงาน ถูกปรับลดงบประมาณลง สะท้อนให้เห็นว่าระบบงบของไทยล้าหลัง ไม่มีการปฏิรูประบบราชการ ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ จนทำให้โครงสร้างงบประมาณเป็นอย่างนี้ทุกๆ ปี อยู่ในวังวนภาวะรัฐราชการ”

ในส่วนของงบกลาง ลดลงเล็กน้อยเหลือ 18.4% จากปีที่แล้วที่ลดลงเหลือ 18.6% จากการปรับลดงบที่เกี่ยวข้องกับโควิด 4 หมื่นล้านบาท ทำให้พรรคภูมิใจไทย เกิดความไม่พอใจ แสดงให้เห็นปัญหางบกลาง ซึ่งทุกหน่วยงานต้องการออกจากระเบียบและระบบขั้นตอนที่น้อยลง แต่อีกด้านหนึ่งทำให้งบกลาง มีช่องโหว่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียด

“ถ้าวันนี้พูดถึงการปฏิรูประบบงบประมาณ จะต้องตอบสนองต่อภารกิจการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วเมื่อมีการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็ผ่านไปด้วยดี แม้ดูเหมือนว่าพรรคร่วมรัฐบาล ไม่พอใจถูกตัดลดงบลงก็ตาม แต่เพราะการต่อรอง นำงบลงในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งทุกคนต้องการกันหมด อย่างไรเสียงบก็ผ่านหลักการ และมีโควตาที่นั่งกรรมาธิการงบ”

อีกทั้งการพิจารณางบประมาณรายจ่าย มีกลไกเอื้อให้ผ่าน เพราะมาตรา 143 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้ชัดเจนว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ หากไม่เสร็จภายใน 105 วัน ถือว่าผ่านการเห็นชอบ และเมื่อส.ว.พิจารณา หากภายใน 20 วัน ไม่เห็นชอบ ให้ส่งกลับมายังสภาฯ ภายใน 180 วัน ในการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด
หรือหากมีเหตุต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เขียนเงื่อนไขรองรับไว้แล้ว ต้องให้ความไว้วางใจฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ฝ่ายบริหาร ได้เปรียบฝ่ายนิติบัญญัติ

...

งบฉบับโรงลิเก อภิปรายอย่างราชสีห์ ลงมติอย่างกับหนู

หากจะนิยามงบประมาณปี 2565 จะเรียกว่าฉบับโรงลิเก ก็ถูกต้อง เพราะกติกาต่างๆ มีการเอื้อให้อยู่แล้ว เพื่อให้ผ่านได้โดยง่าย อย่างการเปรียบเทียบของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จากพรรคก้าวไกล ออกมาระบุอภิปรายอย่างราชสีห์ ลงมติอย่างกับหนู และอดกังวลไม่ได้ว่างบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากโควิด จะลงไปถึงประชาชนได้จริงหรือไม่

อีกอย่างหนึ่งได้กู้เงินมาแล้ว 1 ล้านล้านบาท นำมาใช้และกำลังจะหมด ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น และกำลังจะกู้อีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าหรือไม่ ในการฟื้นฟูประเทศ นั่นคือประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขต้องสามารถตอบสนองได้ เช่น การจัดหาวัคซีน โดยการใช้งบกลาง ต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียดเข้มข้น

“แม้มาตรการช่วยเหลือ จะเหมือนกับทุกประเทศที่ทำออกมา แต่ปัญหาโครงสร้างใหญ่ คือเรื่องวัคซีนที่ไทยไม่สามารถกระจายให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ หรือแม้ฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชากรจนครบ ก็ไม่ได้การันตีว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น”

...

สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐบาล "บิ๊กตู่" ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรยังคิดว่ารัฐบาลยังไปต่อได้อีก ไม่มีทางที่พรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัว คงไม่ง่ายในเวลานี้ ส่วนสถานการณ์นอกสภา ต้องยอมรับเพราะโควิดได้ทำให้ทุกอย่างสงบไม่สามารถชุมนุมได้ และแกนนำก็ต้องคดีความ จึงมีโอกาสสูงที่รัฐบาลอาจอยู่จนครบเทอม แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ จากพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อหันไปดูพรรคฝ่ายค้านในขณะนี้ ดูอ่อนแรงไปมาก ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แม้กระทั่งการออกเสียงไม่เห็นด้วยกับงบประมาณปี 2565 เพราะสุดท้ายแล้วก็มีที่นั่งกรรมาธิการงบประมาณ แทนที่จะงดออกเสียง จนเกิดคำถาม การประกาศจะคว่ำงบประมาณคืออะไร? ไม่ใช่การโหวตไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อถึงเวลาก็มีที่นั่งกรรมาธิการงบประมาณ จึงไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียกกันว่างบประมาณฉบับโรงลิเก.

ผู้เขียน : ปูรณิมา

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun