ย้อนไปในปี 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เพียงถูกสงสัยและกล่าวหาว่าพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด ได้ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่พรรคสามัคคีธรรมของนายณรงค์ กวาดที่นั่ง ส.ส.จำนวนมากที่สุด

“ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม กล่าวว่า กรณีผู้ต้องขังในคดีค้ายาเสพติดในออสเตรเลียไม่ผิดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ได้ล้มล้างหลักการทางกฎหมายและความเป็นนิติรัฐที่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการได้เคยให้ความเห็นเอาไว้เมื่อปี 2525 เพราะไม่มีการพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการได้บุคคลที่มีจริยธรรม ปราศจากมลทินโดยเฉพาะข้อกล่าวหาร้ายแรงมาทำหน้าที่บริหารประเทศ

“ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นความผิดทั้งในไทยและออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลก และผูกพันและมีพันธกรณีที่ไทยมีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และความร่วมมือต่อนานาชาติในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับกันว่าเป็นภัยต่อมนุษยชาติและความมั่นคงปลอดภัยของสังคมโดยรวม”

...

เมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองฝ่ายค้าน มีปัญหาเรื่องการถือครองหุ้นถือตัดสิทธิทางการเมืองและถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว ย่อมเห็นถึงความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจนในประเทศนี้ ความผิดอาญาบางฐานโดยเฉพาะการค้ายาเสพติดนั้นเป็นความผิดสากล และการค้ายาเสพติดไม่มีประเทศใดที่มีอารยประเทศจะยอมรับได้

ยกเว้นประเทศที่เคยปกครองโดยรัฐเผด็จการทหารอย่าง นายพลมานูเอล นอริเอกาแห่งปานามา ภายหลังนายพลนอริเอกา ถูกตัดสินจับคุกในสหรัฐอเมริกา 20 ปี หรือระบอบเผด็จการทหารในประเทศโคลอมเบีย เม็กซิโก ในอดีตที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการค้ายาเสพติดของ นายปาโบล เอสโคบาร์ และนายเอล ชาโป กุซมาน

กรณีนายปาโบล เอสโคบาร์ คนนี้ได้พยายามเข้ามาเล่นการเมือง หลังโคลอมเบียมีการเลือกตั้ง และได้เป็น ส.ส. ระยะหนึ่ง แล้วถูกขุดคุ้ยตรวจสอบและถูกกดดันให้ลาออกจาก ส.ส. ในที่สุด เขาจึงเปิดฉากทำสงครามกับรัฐบาลโคลอมเบียและบงการให้สังหารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง

ส่วนนายเอล ชาโบ ได้หลบหนีจากที่คุมขังหลายครั้งโดยใช้เงินซื้อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นโรบินฮูดนำเงินจากการค้ายาเสพติดบางส่วนมาช่วยเหลือคนยากจน ขณะเดียวกันได้เข่นฆ่าคนจำนวนมากที่มาขัดขวางขบวนการค้ายาเสพติดของเขา

กรณีของประเทศไทย มีปัญหากระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่น้อย เช่น กรณีบอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตและไม่มีการส่งฟ้องคดี พยานสำคัญเสียชีวิตกะทันหัน หรือกรณีอื่นที่เกิดขึ้นและไม่เป็นข่าว ทำให้ความสงบเรียบร้อยและสันติธรรมของสังคมถูกละเมิด

“ยังมีการอุ้มฆ่าอุ้มหาย การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหาร แล้วระบบตุลาการตีความหรือตัดสินว่าไม่มีความผิดใดๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบตุลาการและกระบวนการยุติธรรมในไทย รวมทั้งปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศนี้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาและมีการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างแท้จริง ประเทศจะไม่มีอนาคต ประชาชนส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดโอกาส ขาดหลักประกันในชีวิต โดยเฉพาะการเข้าถึงความเป็นธรรมและความยุติธรรม”

ไม่รีบแก้ไป ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต

นอกจากนี้จะทำให้การแก้ปัญหาโควิด มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะประชาชนจะสูญเสียความเชื่อมั่นต่อองค์กรของรัฐ และระบบยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องถึงความน่าเชื่อถือและความเป็นธรรม ซึ่งโศกนาฏกรรมระบบยุติธรรมไทยจะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติเศรษฐกิจ

“สังคมไหนก็ตาม ที่คุณสามารถซื้อหาความยุติธรรมได้ด้วยอำนาจเหนือกฎหมาย หรืออำนาจเงินแล้ว เท่ากับว่าระบบยุติธรรมเป็นสินค้าส่วนบุคคล หรืออาจเป็นสินค้าร่วม เฉพาะของคนที่มีอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ใช่สินค้าสาธารณะอีกต่อไป ประชาชนและคนยากจนถูกกีดกันให้ออกไปจากกระบวนการยุติธรรม สังคมไทยต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุด ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามนำมาสู่ความรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงสู่การเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต”

สำหรับสิ่งที่เราต้องการ คือสังคมที่สงบสันติและเคารพกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้วโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง อย่าได้ทำให้ความไม่มีนิติรัฐเพิ่มความไม่พอใจของผู้คนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีที่สุด เมื่อไม่มีนิติรัฐแล้ว อย่าไปหวังว่าบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะนำโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

...

ในเบื้องต้น รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และระบบการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐนิติธรรม อันเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นแล้ว โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อาศัยการลงทุนจากต่างชาติจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาก็จะมีแต่นักลงทุนอีแร้ง ไม่ยึดถือธรรมาภิบาล มาใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และความยุติธรรมที่ซื้อหาได้

นักลงทุนเหล่านี้ก็จะแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยไม่มีจริยธรรม และไม่เป็นไปตามกฎหมาย แล้วหนีจากประเทศไทยไปเมื่อวิกฤติหรือไม่มีอะไรให้ตักตวงแล้ว หากเราทำให้ระบบยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือและบังคับใช้กฎหมายได้ นักลงทุนที่ยึดถือความเป็นธรรม ยึดถือหลักการที่เป็นมาตรฐานสากลจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

คนจนไม่มีเส้น ถูกเลือกปฏิบัติ ต้องปฏิรูประบบยุติธรรม

จากระบบยุติธรรมที่มีปัญหาจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากขึ้น เราต้องยอมรับความจริงว่า คนยากจนและคนที่ไม่มีเส้นสายและลูกหลานของพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมและเลือกปฏิบัติอยู่แล้วในระดับหนึ่ง กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำลงได้บ้าง

...

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและระบบยุติธรรมอ่อนแอลงอย่างชัดเจน คนจำนวนมากถูกจับติดคุกโดยไม่มีความผิด หรือมีความผิดเพียงเล็กน้อย ในขณะที่คนมีอำนาจรัฐมีเงินล้วนหนีคดี ไม่สามารถแม้กระทั่งนำบุคคลเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือสั่งไม่ฟ้อง ด้วยการสร้างหลักฐานหรือบิดเบือนความจริง

ทางออกและจุดเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูประบบยุติธรรมและปฏิรูปประเทศนั้น ต้องดำเนินการโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มั่นคงยั่งยืนและการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนเท่านั้น.