กลายเป็นปรากฏการณ์ร้อนแรงในสังคมไทย เมื่อยอดสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” เพิ่มขึ้นไม่หยุดทะลุ 5 แสนคนไปแล้ว ทั้งๆ ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เพียง 3 วันเท่านั้น ในการแนะนำการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ย้ายถิ่นฐาน และขอสัญชาติ แบบละเอียดถี่ยิบ และ#ย้ายประเทศกันเถอะ ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกด้วย
หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนอะไรบางอย่าง? จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองยากจะหาทางออก และโควิดระลอก 3 ระบาดอย่างหนัก มีผู้คนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จนดูเหมือนชีวิตจะหมดความหวัง ต้องหาหนทางใหม่ให้กับอนาคตตัวเอง
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ac0PjvVoBD1uJ6nG0rB2DynPmlMXaY.jpg)
หนึ่งในทางเลือก หากหันหลังให้เมืองไทยแล้วย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศเป็นหลัก และขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า จากความเห็นของ “ทนายณรงค์ศักดิ์ สุขวิบูลย์” ผู้ให้คำปรึกษาด้านขอลี้ภัยและโอนสัญชาติ รวมถึงอีกสิ่งต้องมีความสามารถพิเศษในด้านภาษา เนื่องจากบางประเทศมีการทดสอบภาษาอังกฤษ การมีทักษะด้านอาชีพ และเรื่องการเรียน จะทำให้มีโอกาสได้สัญชาติของประเทศนั้นๆ
...
“การย้ายถิ่นฐานจะง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่กับเงินและความสามารถ เช่น เป็นนักกีฬา นักวิทยาศาสตร์ มีความสามารถทักษะในอาชีพ จนเป็นที่ต้องการ มีหลายประเทศส่วนใหญ่รับรองอยู่แล้ว”
ส่วนเรื่องการเงิน เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นฐานโดยการลงทุนในต่างประเทศ จะได้สัญชาติโดยปริยาย ซึ่งแต่ละประเทศมีเงื่อนไขแตกต่างกันในการเปิดให้ชาวต่างชาติมาลงทุน หรือการไปลงทุนในประเทศหมู่เกาะต่างๆ ทำให้ได้รับสัญชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมในยุโรป จะสามารถเดินทางเข้าประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวก
“ปัจจุบันหลายประเทศเปิดให้ลงทุน บางประเทศใช้เงินไม่มาก ขั้นต่ำ 1 หมื่นเหรียญในยุโรปตะวันออก ตามประเทศเล็กๆ และหมู่เกาะ ไม่ได้เรียกว่าซื้อขายสัญชาติ เพราะการใช้เงินลงทุน ไม่ได้เสียเปล่า แต่ได้ผลประโยชน์จากการลงทุน เช่น ไปซื้ออสังหาฯ หากมีเงินก็ไปลงทุนในประเทศพวกเขา ในฐานะนักลงทุน หรือไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ac0PjvVoBD1uJ6nHWet0I5PUuKR8OM.jpg)
นอกจากนั้นการย้ายถิ่นฐาน สามารถทำได้โดยการลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นประเทศตะวันตก เพราะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งจากภัยสงคราม ทางการเมือง ภัยคุกคามทางอาญา เช่น ในภาวะสงครามกลางเมือง ประเทศประสบกับปัญหารัฐล้มเหลว
รวมถึงการย้ายถิ่นฐาน จากการทำงานในต่างประเทศ จนได้รับสัญชาติ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ และการแต่งงานกับชาวต่างชาติ จะได้สัญชาติ เมื่ออาศัยในประเทศนั้นจนครบตามเงื่อนไข ซึ่งยอมรับในประเทศที่เจริญแล้วจะค่อนข้างยากมากกว่า
ส่วนอีกกรณีหากอยากจะได้สัญชาติของประเทศนั้นๆ เพื่อแลกกับสวัสดิการที่ดีกว่า เมื่อไม่มีความสามารถใดๆ ต้องเริ่มจากวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศ จนได้วีซ่าการทำงาน กระทั่งหาช่องทางเพื่อให้ได้สัญชาติในที่สุด เช่น การแต่งงานกับคนในประเทศนั้น ซึ่งแล้วแต่ทางเลือกของแต่ละคน
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ac0PjvVoBD1uJ6nHLnVHmHJ521tK4G.jpg)
ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ประเทศมอนเตเนโกร มีผู้ลงทุนเพื่อถือสัญชาติมากที่สุด เพิ่มขึ้น 142% จากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ตามมาด้วยไซปรัส เพิ่มขึ้น 75% และมอลตา ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศในสหภาพยุโรปโดยอัตโนมัติ ในการเข้าถึงการศึกษา และการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่า
ส่วนสัญชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน จากประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤติโควิด แต่ต้องแลกด้วยราคาที่สูง โดยออสเตรเลีย ต้องลงทุน 1-3.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนนิวซีแลนด์ สูงกว่า อยู่ที่ 1.9-6.5 ล้านดอลลาร์
...
สำหรับการลงทุนแลกสัญชาติ เริ่มจากประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ในหมู่เกาะแคริบเบียน เมื่อปี 2527 ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยเปิดโครงการตามมา ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกันในการกำหนดเงินลงทุน และขั้นตอนการตรวจสอบประวัติมีที่มาอย่างถูกต้องหรือไม่.