ความร้ายกาจของ "โควิดสายพันธุ์อังกฤษ" หรือ "UK Variant" พบครั้งแรกในไทยเมื่อ 3 ม.ค.2564 จากครอบครัวชาวอังกฤษ ในสถานกักกันตัว กระทั่งแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 1.7 เท่า ขณะนี้ลุกลามไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย จนเตียงในโรงพยาบาลอาจไม่พอรองรับผู้ป่วย
เมื่อเปรียบเทียบการแพร่ระบาดรอบแรกในเดือน เม.ย.ปี 2563 กับช่วงเดียวกันในระลอก 3 ปี 2564 พบการติดเชื้อสะสมในปีที่แล้วไม่ถึง 3,000 ราย มีผู้ป่วยมากสุด 188 รายต่อวัน ส่วนการระบาดรอบนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ทุบสถิติไปแล้ว เนื่องจากสายพันธุ์อังกฤษ มีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ประเมินกันว่าจะแพร่กระจายทวีคูณ และหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ "โควิดสายพันธุ์อังกฤษ" กำลังทวีความรุนแรงไปทั่วโลก จากการศึกษาสามารถแพร่ได้ไวขึ้น 70% และมีความรุนแรงขึ้นราว 30% ล่าสุดทีมวิจัยจากอังกฤษและอเมริกา ได้ทำการศึกษาพบว่ามีอัตราการแพร่ได้ไวขึ้นราว 65-82% ซึ่งได้ผลสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ ส่วนอีกทีมหนึ่งมีการศึกษาเรื่องอัตราการเสียชีวิต พบว่ามีความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม 67%
เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะการระบาดกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คาดว่าช่วงเวลาเดิมพันในการกดการระบาดในไทย น่าจะประมาณปลายสัปดาห์หน้า หากไม่ลดลงคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมากได้
...

ส่วนกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ตั้งคณะทำงานรัฐร่วมกับเอกชน เพื่อช่วยกันจัดหาวัคซีนทางเลือกเข้ามาเสริมอีก 10 ล้านโดส ถือเป็นนโยบายที่ดี และน่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้มาก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโจทย์ยากในการจัดการ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด กระจายไป 62 จังหวัดในรอบหนึ่งสัปดาห์
นอกจากนี้หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจ โดยแต่ละจังหวัดช่วยกันเป็นหูเป็นตา และปกป้องถิ่นฐานของตนเองอย่างเต็มที่ ในการยกเลิกงาน หรือกิจกรรมที่มีการรวมคนหมู่มาก น่าจะช่วยได้มาก เพราะต่อให้มีการจัดแบบนิวนอร์มอล ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ได้
พร้อมกับย้ำว่าการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ อยู่ห่างๆ งดการตะลอนท่องเที่ยว เน้นการซื้ออาหารและเครื่องดื่มกลับไปกินที่บ้าน และสังเกตอาการไม่สบายแล้วรีบไปตรวจ จะช่วยได้อีกแรง เพราะขณะนี้อาจต้องตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า ทุกคนอาจเสี่ยงได้
“การบันทึกไทม์ไลน์ของตนเองไว้ทุกวันจะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตัวเราเอง คนรอบข้าง และจะเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับคนทำงานด่านหน้าที่ทำหน้าที่สอบสวนโรค”

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะนักไวรัสวิทยา กล่าวว่า ค่าภูมิคุ้มกันหมู่ คิดได้ง่ายๆ แต่ตัวเลขที่ถูกต้องจริงๆ หาคำตอบยาก เพราะตัวเลขไม่มีทางคงที่ เพราะค่า R0 ซึ่งอ่านว่า R-naught หรือ R ศูนย์ ในสมการนี้ คือค่าที่บอกว่าคนติดไวรัส 1 คน จะแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้กี่คน
“ถ้า R0 เท่ากับ 2 ก็คือ 1 คน ไปได้ 2 คน ประเด็นคือ ไวรัสเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เราพูดถึงไวรัสสายพันธุ์อังกฤษที่ติดได้ง่ายขึ้น 1.5-1.7 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าค่า R0 เปลี่ยนไปแน่นอนในบริบทของไวรัสสายพันธุ์นี้”

...
จากสูตรนี้ถ้าสมมติสายพันธุ์เดิม 1 คน ติดได้ 2 คน ต้องฉีดวัคซีนให้คนอย่างน้อย 1-1/2 เท่ากับ 1 ลบ 0.5 เท่ากับ 50% คือ 35 ล้านคน ถ้าคนไทยมี 70 ล้านคน และถ้าสายพันธุ์อังกฤษ 1 คน ติดได้ 2 คูณ 1.5 เท่ากับ 3 เอามาลงสมการ คือ 1-1/3 เท่ากับ 1 ลบ 0.33 เท่ากับ 67% คือ 47 ล้านคน ถ้าคนไทย มี 70 ล้านคน
“ตัวเลขจำนวนวัคซีนที่ต้องฉีด สามารถคำนวณด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ถ้าเอาประสิทธิภาพของวัคซีนมาคิดด้วยก็จะยุ่งไปอีก แต่ปล่อยตัวเลขพวกนั้นให้นักวิชาการเอาไปเถียงกันต่อดีกว่า”