เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวใหญ่ในวงการศัลยกรรมตกแต่ง หลังหญิงวัย 54 ปี ซึ่งเป็นน้องสาวอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งหนึ่งเสียชีวิต หลังจากไปใช้บริการดูดไขมันที่คลินิกหนึ่งในกรุงเทพฯ

ถึงเวลานี้ (24 ก.พ.) ผลชันสูตรยังไม่บ่งบอกว่าผู้ตายเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร แต่... “การดูดไขมัน” ก็ใช่ว่าไม่มีอันตราย เพราะการศัลยกรรมทุกส่วนย่อมมีความเสี่ยงที่ผู้คิดจะทำต้องแบกรับ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง กล่าวเตือนดังๆ ว่า “การดูดไขมันไม่ใช่การลดความอ้วน เป็นเพียงการลดไขมันเฉพาะส่วนเท่านั้น”

2 ปัจจัยเสี่ยงจากการดูดไขมัน

นพ.วิษณุ เปิดเผยว่าอันตรายจากการดูดไขมันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ...

1.อันตรายจากการให้ยาชาและยาสลบ

คุณหมอวิษณุ กล่าวว่า การให้ยาสลบแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ การฉีดยาชา การฉีดยาเพื่อให้หลับ และการใส่ท่อโดยวิสัญญีแพทย์

การให้ยาชา จะเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับการดูดไขมันไม่เยอะ ในพื้นที่เล็กๆ คนไข้จะรู้ตัว เช่น พื้นที่ท้องแขน ต้นแขน ต้นขา เป็นต้น การให้ยาชา คนไข้จะรู้สึกตัว แต่หากฉีดยาชาแล้วร่างกายดูดซึมมากเกินไป ก็จะทำให้ร่างกายหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้เสียชีวิตได้

ส่วนการฉีดยาเพื่อให้หลับ จะใช้ต่อเมื่อต้องการดูดไขมันมากขึ้น แพทย์จำเป็นต้องให้ยามากขึ้น ซึ่งนำมาสู่ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งการดูดไขมัน คนไข้อาจจะไม่ได้นอนหงายเพียงอย่างเดียว บางครั้งต้องพลิกตัว นอนตะแคง หรือนอนคว่ำ ความเสี่ยงที่ตามมาคือ บางครั้งคนไข้ไม่รู้ตัวแล้วเกิดทางเดินหายใจมีการตีบ หรือ ติด หรือ ทางระบบปอด หัวใจ ทำงานไม่ดี ก็มีโอกาสเสียชีวิตคาเตียงได้

...

ส่วนการใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ อาจเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด เพราะจะมีคุณหมอวิสัญญีแพทย์ช่วยดูแล แต่เมื่อถามว่า “จำเป็น” ทุกกรณีหรือไม่ คำตอบ ก็คือไม่จำเป็น

2. อันตรายระหว่างดูดไขมัน

อาจารย์หมอคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวย้ำว่า การดูดไขมัน ยิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงมาก เพราะก่อนจะดูดไขมัน จำเป็นต้องฉีดสารน้ำบางอย่างเข้าร่างกาย เพื่อให้ไขมันภายในร่างกายเรานุ่มตัว เวลาดูดจะได้ไม่เจ็บ เลือดไม่ออก แต่สารน้ำที่ฉีด มีส่วนประกอบของยาหลายๆ ชนิด สิ่งสำคัญคือ การคำนวณปริมาณยากับน้ำหนักตัว หากคำนวณผิดพลาด นั่นหมายถึงชีวิต

"บางคนอาจจะเกิดการ “แพ้ยา” เนื่องจากในสารน้ำมีส่วนผสมของ “อะดรีนาลีน” ซึ่งจะช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว เวลาดูดไขมันจะช่วยไม่ให้เลือดออก แต่ถ้าฉีดมากเกินไป จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ เมื่อหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะก็ส่งผลให้เสียชีวิตได้"

บางกรณี อาจจะเห็นว่า คนไข้มีอาการเจ็บ..จึงเติมยา หรือต้องการดูดปริมาณที่เพิ่มขึ้นก็เติมยาอีก การทำกับหมอที่ไม่ชำนาญหรือคำนวณผิดพลาดก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาได้

นพ.วิษณุ เผยว่า การดูดไขมันในต่างประเทศ เขาจะมีลิมิต ไม่เกิน 4-5 ลิตร แต่สำหรับคนไทย 2-3 ลิตรถือว่ามากแล้ว ถามว่าจะดูดเยอะกว่านี้ได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่ต้องเป็นเคสพิเศษ ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เช่น ทำที่โรงพยาบาลใหญ่ มีห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน แต่โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ดูดเกิน 4 ลิตร

สาเหตุหลัก “ดูดไขมัน” แล้วตาย!

หมอวิษณุ กล่าวถึงเบื้องหลังการทำศัลยกรรมเสริมความงามว่า ปกติแล้วเวลาทำศัลยกรรม อาจจะทำหลายอย่างพร้อมกันได้ แต่การทำผ่าตัดนานๆ ยิ่งได้รับความเสี่ยง โดยเฉพาะผ่าตัดเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป

การดูดไขมัน อาจจะใช้เวลาไม่นาน 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่าตัดหน้าท้องด้วย หน้าอกด้วย รวมๆ กันเกิน 6 ชั่วโมง ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

“สาเหตุการเสียชีวิตจากการดูดไขมัน มักจะเกิดจากการที่มีลิ่มเลือด หรือ ลิ่มไขมัน ไปอุดที่ปอด หรือหัวใจ สาเหตุมาจากการอุปกรณ์ที่ใช้เช่นหัวดูดใหญ่เกินไป หรือ ฉีดแรงเกินไป หรือใช้อุปกรณ์ดูดออกแล้ว แล้วเอามาฉีดดันเข้าไป ส่งผลให้ไขมันเข้าไปในเส้นเลือด และมันไปอุดตันในปอดหรือหัวใจ ทำให้เสียชีวิต”

...

นอกจากนี้ ยังไม่รวมผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เลือดออก ช้ำบวม ติดเชื้อ ผิวหนังเป็นคลื่น บริเวณที่ดูดมีอาการเจ็บ และ มีอาการชาไม่หาย สำหรับ อาการที่เจอบ่อยที่สุด คือ ผิวหนังเป็นคลื่น เคสที่เกิดขึ้นจะไม่ค่อยเป็นข่าว เพราะคนไข้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ต้องมาแก้ไขไขอยู่เรื่อยๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คนที่ดูดไขมันแล้วเสียชีวิตนั้นเราพบทุกปี บางปีนับสิบคน หรือเฉลี่ยปีละ 2-3 คน ส่วนมากจะไปทำกับสถานบริการตึกแถวที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือทำโดยแพทย์ทั่วไป ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะพวกโฆษณาแบบมีโปรโมชั่น เหมาๆ ดูดไขมันทั้งตัว เป็นต้น

ในช่วงท้ายการสนทนา อาจารย์หมอวิษณุ เน้นย้ำว่า “ไม่ว่าจะดูดไขมันตรงไหนของร่างกาย ก็ต้องระมัดระวัง เพราะทุกส่วนของร่างกายสำคัญทั้งหมด

“การดูดไขมันมากเกินไป จะทำให้ร่างกายไม่สมดุล และอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ฉะนั้นการดูดไขมัน ไม่เหมือนการลดความอ้วน ดูดไขมันคือการดูดเฉพาะส่วน ฟังดูง่าย แต่ทำให้ดี ให้ปลอดภัยนั้นทำยากแต่ถ้าคิดจะผอมแล้วมาดูดทั้งตัวแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำมันก็เหมือนการทะลวงจนเป็นริ้วไปทั้งตัว”

...

สิ่งท่ีอยากจะแนะนำคือ
1.เลือกแพทย์เฉพาะทาง
2.เลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานสูง
3.ดูดไขมันอย่างมีข้อจำกัด ซึ่งการดูดไขมันใช่ว่าจะดีกว่าทุกเคส บางเคส อาจจะเลือกตัดหน้าท้อง หรือสลายไขมันด้วยวิธีอื่นๆ

“บางคนที่อ้วนมากๆ เราไม่แนะนำให้ดูดไขมันนะครับ แต่แนะนำให้ลดความอ้วนแทน ถ้าคิดจะผ่าตัดก็อาจต้องใช้วิธีผ่าตัดหน้าท้องหรือกระเพาะ เป็นต้น การที่มีพุง อาจจะไม่ใช่เพราะไขมันอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวไม่แข็งแรง หรือเกิดจากไขมันพอกที่ช่องท้อง ซึ่งดูดไม่ได้ วิธีการลดไขมัน มีหลายวิธี ไม่ใช่แค่ดูดออกอย่างเดียว เช่น นวัตกรรมการสลายไขมัน หรือผ่าตัด ตัดไขมันก็ได้ การดูด คือตรงกลาง” หมอผู้เชี่ยวชาญฝากทิ้งท้ายไว้ให้คิด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่น่าสนใจ

...