หลังได้รับฉันทามติจากประชาชนคนกรุงเทพฯ เลือกเข้ามาอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ชนะทุกเขต ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับสองอยู่หนึ่งล้านเสียง วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ ได้นั่งคุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงภารกิจต่อไปในการผลักดันให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ. กทม. ปี 2528 เพื่อเพิ่มอำนาจ กทม. ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น“ผมว่ามันควรจะมี Autonomy หรือว่ามีอำนาจของตัวเองที่เข้มแข็งขึ้นนะ เราจะมาดูอย่างผู้ว่าโตเกียว อำนาจเขา ผมว่ามันเป็นเหมือนกับ น้องๆ นายกฯ เลย” อดีต “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” กล่าว“เราไม่ได้บอกว่าเรากระหายอำนาจ แต่มันจะได้บริหารจัดการได้”และนี่คือบทสัมภาษณ์เปิดใจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับช่วงเวลา 2 ปี 8 เดือน ในภารกิจผู้นำการบริหารงานเมืองหลวงของประเทศไทย ที่มีประชากรห้าล้านสี่แสนคนหมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ Thairath Front Page EP.1 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่หายใจเป็นงานและคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 25682 ปีกว่าที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้างผมคิดว่าเราเห็นคนในมุมที่หลากหลายมากขึ้น เพราะตอนเราเป็น รมว.คมนาคม มันเน้นเฉพาะเรื่องการคมนาคมถูกไหม ผมจำได้เลยตอนนั้นเราทำโครงการรถไฟความเร็วสูง เราลงทุนตั้ง 2 ล้านล้านบาทในระบบคมนาคม ท่าน กรณ์ จาติกวณิช ยังเคยไปให้ความเห็นในสภาฯ ว่ามันทุ่มเทให้การคมนาคมมากไปหรือเปล่า?ตอนนั้นเราเป็นรัฐมนตรีคมนาคม เราเหมือนโฟกัสด้านเดียว แต่พอเป็นผู้ว่าฯ มันมีทุกมิติเลย เพราะจริงๆ แล้ว มันมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ใช่เฉพาะคมนาคม เรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุขต่างๆผมคิดว่า เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ง่ายนะ เพราะว่าหลายๆ อย่างมันขัดแย้งกับ passion ของเรา หมายถึงว่า passion ของผม เราอยากให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถึงนาทีหนึ่ง เราต้องไปไล่หาบเร่แผงลอยที่เขาไปอยู่บนทางสาธารณะ ขณะเดียวกันมันก็จำเป็น เพราะเราไม่สามารถให้ฟุตบาททางเท้าเต็มไปด้วยหาบเร่แผงลอยได้ มันก็เลยขัดแย้งเหมือนกันบางที เพราะฉะนั้น มันมีเรื่องที่เราก็ไม่อยากทำเลยเพราะมันไม่ใช่ปรัชญาของเรา เราอยากเห็นทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น หลักการคือต้องไปหาทางเลือกให้เขา ต้องพยายามไปช่วยเขาว่า ถึงแม้ถูกไล่ไป มีที่อื่นให้เขาอยู่ไหม ก็ต้องมีงานเพิ่มขึ้นอีก เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้สนุกทุกอย่างในตำแหน่งผู้ว่าฯ เพราะมันมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจเส้นทางอาชีพ ทำมาหลายงานสะสมมาเรื่อยๆ งานไหนที่มี passion มากที่สุด?ทุกอันเหมือนคล้ายๆ กันเนอะ คือผมไม่รู้จัก passion ของตัวเองนะ จนกระทั่งเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว มีเด็กมาถาม เราก็ไปนั่งคิด passion คืออะไร? เออ มันมั่วดีนะ เป็นทั้งอาจารย์ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม เป็นซีอีโอบริษัททำบ้านจัดสรร แล้วก็เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทุกอย่างมันคนละเรื่องเลย แต่พอเรามานั่งคิดให้ละเอียด ทุกๆ อย่างมีสิ่งร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เราเป็นอาจารย์ แน่นอนเด็กก็มีความรู้มากขึ้น มาเป็นรัฐมนตรีคมนาคมก็ช่วยถนนหนทาง เดินทางกลับบ้านเร็วขึ้น มาเป็นซีอีโอบ้านจัดสรร เสาร์อาทิตย์คุณต้องออกไปหาลูกบ้านเลย มีปัญหาตรงไหนก็ปรับปรุงชีวิตให้เขา แล้วผู้ว่าฯ กทม. นี่ตรงเลย ชีวิตเนี่ย ฝาท่อหน้าบ้านดีขึ้น ผมว่านี่มันคือ passion มันไม่ใช่เนื้องานหรอก มันเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้าง คงต้องบอกว่า passion ผมคือการทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นคุณเคยบอกว่า เวลาแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ คุณต้องออกไปวิ่ง วิ่งแล้วได้ทางออกในการแก้ปัญหา แล้วปัญหาอะไรใน กทม. ที่ทุกวันนี้ยังวิ่งอยู่ และยังแก้ไม่ได้ถ้าพูดจริงๆ เลยก็เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้ต้องยอมรับเลยนะ ผมว่าเรื่องนี้เหมือนกับช้างในห้อง ถ้าเราไม่ยอมรับเรื่องความโปร่งใส เราก็จะแก้ไขไม่ได้ ต้องยอมรับก่อนว่ามันมีปัญหา อันนี้เรื่องใหญ่เลยที่ผมว่าประชาชนยังไม่ไว้ใจเราเรื่องนี้ เรื่องการขอใบอนุญาต เรื่องเทศกิจ เรื่องหาบเร่แผงลอยต่างๆ แต่ผมว่าที่ผ่านมาดีขึ้นนะ เราเอาจริงเอาจังจากฝ่ายบริหาร เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความโปร่งใส แล้วเอาประชาชนมาเป็นแนวร่วม อันนี้แหละทำให้ได้ความโปร่งใสกลับมาคอร์รัปชันมันเริ่มจากคน ผมว่าหัวใจคือว่าเราต้องตั้งคนที่เราคิดว่าเก่ง ก็คือใช้ระบบประเมินผลที่แท้จริง สมมุติว่าเรื่องซื้อตำแหน่ง...ไม่ได้เลย ถ้าเกิดมีนี่เจ๊งเลยนะ เพราะฉะนั้นการคัดเลือกก็ต้องพยายามใช้ระบบความสามารถให้มากที่สุด เอาคนเก่งมาอยู่ในตำแหน่งให้มากที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องมีการซื้อขายตำแหน่ง อย่างนี้เจ๊งเลย เรื่องความไม่โปร่งใสมันอยู่ในทุกพื้นที่ ถ้าเกิดเราเอาจริงกับมัน ผมก็เชื่อว่าก็ดีขึ้นนะหลังจากแก้ไขปัญหาเรื่องเส้นเลือดฝอย จากแอพ Traffy Fondue ไปแล้ว คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ ถึงเวลาที่ กทม. ต้องบายพาสหัวใจเพื่อแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ โดยเฉพาะนโยบายที่ กทม. ควรจะมีเอกภาพในการจัดการบริหาร สาธารณูปโภค และสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อันนี้จะมุ่งไปสู่การแก้ พ.ร.บ. กทม. ปี 2528 อย่างไรผมว่าเส้นเลือดใหญ่ กทม. อาจจะมี 2 มิติ มิติหนึ่งคือการแก้กฎหมายเลย เพราะ กทม. ปัจจุบันเราเป็น พ.ร.บ. 2528 อยู่ ซึ่งต้องเอาเข้าสภาใหญ่ ไม่ใช่สภา กทม. อีกเรื่องหนึ่งคือการลงทุนขนาดใหญ่ พวกเมกะโปรเจกต์ต่างๆ อันนั้นเดี๋ยวได้ว่ากัน จะพูดถึงตัว พ.ร.บ. 2528 ก่อน ซึ่งผมคิดว่าเราอยู่ในจังหวะที่ดีแล้ว ที่จะเสนอข้อเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเรารู้จุดอ่อนต่าง ๆ ที่พอเราเดินหน้าแล้วมันติดระบบต่าง ๆ เช่นเรื่องการจราจร เรื่องอำนาจในการเก็บภาษี เรื่องการบริหาร เรื่องจัดการสาธารณสุขต่างๆ เพราะฉะนั้นหัวใจของการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. 2528 ที่จะเสนอในส่วนของเรานั้น คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากปัญหาที่เราเห็น แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันต้องเข้าสู่สภาใหญ่ แล้วก็เป็นเรื่องของสภาใหญ่ที่ต้องดำเนินการต่อไปส่วนพวกเมกะโปรเจกต์ ผมคิดว่าเราทำต่อเยอะแยะ แต่ว่าเมกกะโปรเจกต์ตัวหนึ่งที่คนนึกไม่ถึง อย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว เราเอาเงิน 37,000 ล้านไปจ่ายแล้วนะ ความจริงแล้วคือเงินส่วนที่แทนที่เราไปทำโครงการอื่นได้ เราเอาไปจ่ายรถไฟฟ้าสีเขียวซึ่งเป็นโครงการในอดีต แต่ยุคนี้เป็นยุคที่ไปล้างหนี้ก้อนใหญ่ออกไป แล้ว 37,000 ล้าน ก็ถือว่าเป็นโครงการที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทุกวัน ผมว่ารวมทั้งหมดก็วันละเป็นล้านคนที่เข้าสู่ระบบโครงการอื่นที่เราทำก็เช่นพวก อุโมงค์ระบายน้ำ ทำต่ออยู่แล้ว มีหลายโครงการที่เราทำ อย่างโครงการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงเกียกกาย ซึ่งเราก็ดำเนินการอยู่ มีโครงการเขื่อนกันน้ำทะเลกัดเซาะ ผมว่าก็หลัก 2,000 กว่าล้านบาท ที่ทะเลบางขุนเทียน ที่เราเสียพื้นที่ทุกวันทุกนาทีจากการกัดเซาะ โครงการนี้ก็ผ่าน EIA ผ่านอะไรต่างๆ แล้ว ที่จะทำเป็นขื่อนยาว 4 กิโลเมตร กับ 700 เมตร อยู่หน้าบางขุนเทียน มีการสร้างโรงพยาบาลใหม่อีก 5 แห่งกทม. เป็นเมืองที่ถ้าต้องแก้ปัญหา จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายมหาศาล เอาแค่จราจร ตอนผมเป็น รมว.คมนาคม ผมเคยนับนะ ...17 หน่วยงาน ทุกวันนี้อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ที่เราต้องพยายามในส่วนที่ทำให้เรามีอำนาจมากขึ้นมา ปัจจุบันไฟจราจรเรายังกดไม่ได้ เป็นเรื่องของตำรวจ ผมไปเดินตรวจฟุตบาทสุขุมวิท รถจอดริมถนนผิดกฎหมาย พวกไกด์ผีที่มาไกด์นักท่องเที่ยวเนี่ย ขอถ่ายรูปผมทั้งเส้นเลย เพราะรู้ว่าเราทำอะไรเขาไม่ได้ แสดงว่าอำนาจผู้ว่าฯ มีแค่บนฟุตบาท คือหาบเร่นี่โทรบอกกันหมดเลยว่า...ผู้ว่าฯ มาแล้วๆ เข็นหนีกันหมด แต่รถที่จอดริมถนนนี่ ขอถ่ายรูปนี่คือบทเรียนของเมืองใหญ่ในระดับโลกที่เป็นเมกะซิตี้ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว หรือเปล่า มีตัวอย่างเรื่องอะไรบ้างที่เห็นจากการดูงานมาผมว่ามันควรจะมี Autonomy หรือว่ามีอำนาจของตัวเองที่เข้มแข็งขึ้น อย่างผู้ว่าฯ โตเกียวนะ อำนาจเหมือนกับ น้องๆ นายกฯ เลย เราไม่ได้บอกว่าเรากระหายอำนาจ แต่ว่ามันจะให้บริหารจัดการได้ผมว่าเรื่องแรก ผมว่าเรื่องการจราจร อันนี้คงเป็นเรื่องสำคัญเลยที่ต้องมีการดูแล ประสานงานต่างๆ รถไฟฟ้าทางด่วน ฯลฯ อันที่สองว่าเรื่องการเก็บภาษี ปัจจุบันนี้เราเก็บภาษีเราเองประมาณ 3 หมื่นล้าน ภาษีในส่วนกลางส่งให้ 6 หมื่นล้าน ที่มาจาก VAT ต่างๆ อนาคตรูปแบบการเก็บภาษีก็เป็นส่วนสำคัญผมว่าเรื่องการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ตำรวจต่างๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างตำรวจเทศกิจเราก็ไม่มีอาวุธไม่มีอะไรนะ ก็คือจับได้เฉพาะหาบเร่แผงลอย ตำรวจเองก็ไม่ได้อยู่กับเรา ผู้ว่าฯ หลายๆ เมือง ตำรวจอยู่กับเขาใช่ไหมเรื่องสาธารณสุขก็สำคัญ สาธารณสุขปัจจุบันเรามีเตียงอยู่ 13% ของโรงพยาบาลทั้งกรุงเทพฯ เราเจอปัญหาอีกเรื่องในช่วงโควิดที่ผ่านมาคือ กทม. ไม่มีสาธารณสุขจังหวัดเหมือนจังหวัดอื่น ไม่มีการสั่งการที่เป็นเอกภาพ ตอนโควิดก็ตั้งหลักกันอยู่นานเหมือนกันนะ แต่นั่นมันก่อนผมมาและสุดท้ายผมว่าเรื่องที่สำคัญมากเลยก็คือเรื่องการศึกษา ปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนปฐมภูมิ ก็คือโรงเรียนที่เน้นประถมศึกษาประมาณ 437 โรงเรียน มีนักเรียนอยู่ประมาณ 250,000 คน ขณะเดียวกันเราก็มีโรงเรียนของ สพฐ. ของกระทรวงศึกษา ที่อยู่กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะฉะนั้นการศึกษา ถ้าสามารถทำให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ มีการประสานงานกันให้เข้มข้นขึ้น ก็น่าจะเป็นตัวที่ช่วยได้แต่จะเป็นการไปช่วงชิงอู่ข้าวอู่น้ำของหน่วยงานอื่นมาไหมก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน แล้วคนที่ผ่านเรื่องนี้ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาใหญ่ จะเห็นว่าผมเองเข้ามาปีแรกก็ไม่ได้ไปทุ่มเทกับเรื่อง พ.ร.บ. 2528 เพราะผมเชื่อว่า เราต้องทําเงื่อนไขที่มีให้ได้ก่อน เราเลือกตั้งมาโดยเงื่อนไขของ พ.ร.บ. เก่า ถ้าเราบอกกติกาไม่ดี ขอเปลี่ยนกติกา จะไปเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เลยไม่ได้ ผมว่าเราต้องโฟกัสกับเงื่อนไขที่เรามีก่อน ทําเงื่อนไขที่เรามีให้ได้ ในข้อจำกัดที่เรามี ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันเราก็เก็บปัญหา แล้วพอเราตกผลึก เราค่อยเสนอเปลี่ยนแปลง ผมว่าอันนี้คงเป็นเรื่องที่คงไม่ได้ไปตีอู่ข้าวอู่น้ำใคร แต่ทุกคนคงเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมขับรถผ่านไปเนี่ย มองไปเห็นโรงเรียนกวดวิชาราคาแพง โรงเรียนเกรดเอ กับมองไปที่โรงเรียน กทม. เนี่ย เด็กในกทม. ยังไม่ได้ เรียนหนังสือก็มีตั้งเยอะ ความเหลื่อมล้ำนี่นะ ผมว่า กทม. รุนแรงกว่าต่างจังหวัดเยอะเลย เพราะต่างจังหวัดมีภาวะที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สภาพครอบครัวขยายขนาดใหญ่ แต่ กทม. เนี่ย คุณอาจจะมีคนไร้บ้านอยู่หนึ่งคนที่ไม่มีใครเคยไปดูแลเขาเลย มันมากับเมืองใหญ่ เมืองใหญ่มันต้องการเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเยอะ มีเฟืองขนาดใหญ่ มีเฟืองขนาดเล็ก หลายรูปแบบ มันก็มีโอกาสที่คนจะหลุดรอดไป ไม่ได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง เป็นกลุ่มเปราะบางเนี่ยมีเยอะ จากนี้ไป 5 ปี 10 ปี อยากให้มรดกของตัวเอง หน้าตาเป็นยังไง? ก็ไม่เป็นไร ผมก็ขอให้เป็นคนผู้ว่าฯ ที่อย่างน้อยก็ทําชีวิตให้คนดีขึ้นบ้าง แค่นั้นเอง เป็นผู้ว่าฯ ติดดินที่อาจจะปรับปรุงกรุงเทพฯ ได้ดีบ้างในบางมิติ ก็ไม่ต้องหรูหราแล้วเดี๋ยวคนก็ลืม เพราะว่าสุดท้ายแล้ว โลกไม่ได้ต้องการเรา เราสามารถหายไปได้ง่ายๆ เลย อย่าคิดว่าสําคัญมาก พอเราเป็นผู้ว่าฯ เราก็หาย เราก็จางไป แล้วก็ไม่เป็นไร ก็มีคนใหม่ ผมเชื่อว่า จะมีคนใหม่ที่ดีกว่าก็มาทดแทน ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่รายการ Thairath Front Page ทาง YouTube ช่อง Thairath News เจาะลึกวิสัยทัศน์ผู้บริหารที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ออกอากาศทุกวันพุธต้นเดือน 14.30 น. เป็นต้นไป