จากกรณีคดีฉาวสะเทือนวงการสงฆ์ หลัง “เจ้าคุณแย้ม” พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม เจ้าคณะภาค 14 ถูกจับกุมในความผิดฐานทุจริตยักยอกเงินวัดจำนวน 300 ล้านบาท ก่อนตรวจสอบพบว่าได้โอนเงินให้สาวคนสนิทที่เป็นนายหน้าเว็บพนัน รวมกว่า 800 ล้านบาท เกิดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมถึงประเด็นรายได้ของวัดและการทุจริต (อ่านข่าว : ไม่ใช่ 300 ล้าน สอบพบ "ทิดแย้ม" โอนเงินให้ "อรัญญาวรรณ" รวมกว่า 800 ล้าน)

“วัด” และเงินอุดหนุนจากรัฐ

ข้อมูลจากรายงาน “วัดกับความเสี่ยงที่จะถูกใช้เพื่อฟอกเงิน” โดย ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ประเทศไทยมีวัดที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) จำนวนมากกว่า 4 หมื่นแห่ง กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

วัดเหล่านี้จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา 3 ประเภท คือ

1. เพื่อบูรณะซ่อมแซมวัด
2. เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุและสามเณร
3. เพื่อการเผยแผ่ศาสนา

วัดแต่ละแห่งจะต้องเขียนโครงการและงบประมาณที่ต้องการใช้เสนอให้ พศ.อนุมัติ จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงบประมาณปี 2556-2562 พบว่า ใช้งบประมาณในการอุดหนุนวัดทั่วประเทศเฉลี่ยมากกว่า 3,000 ล้านบาท

...

“วัด” มีรายรับหลักล้าน

นอกจากเงินอุดหนุนที่ได้รับจากภาครัฐ วัดไทยยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสดจำนวนมาก โดยผลการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเงินของวัดในประเทศไทย ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ที่ได้ทำการสำรวจจากวัด 490 แห่งทั่วประเทศในปี 2555 พบรายรับโดยเฉลี่ยของวัดอยู่ที่ 3.24 ล้านบาทต่อปี แบ่ง 3 อันดับแรกได้เป็น

1. เงินบริจาคเฉพาะด้าน เช่น ซ่อมแซมโบสถ์ เฉลี่ย 2.02 ล้านบาท
2. รายได้จากการสร้างเครื่องบูชา เฉลี่ย 1.46 ล้านบาท
3. เงินบริจาคโอกาสพิเศษ เช่น กฐิน งานบวช เฉลี่ย 1.05 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังไม่รวมกับรายรับอื่นๆ และคาดว่ารายรับเฉลี่ยของวัดในปัจจุบันน่าจะสูงกว่าการสำรวจครั้งนี้

คดีทุจริตเกิดบ่อยครั้ง

การที่วัดมีเงินอุดหนุนและรายรับจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งยักยอกและฟอกเงิน ยกตัวอย่างคดีดังที่เคยเกิดขึ้น เช่น

  • คดีหลวงปู่เณรคำ (ปี 2556)

หลวงปู่เณรคำ หรือ นายวิรพล สุขผล ได้ตั้งสำนักสงฆ์ที่มีชื่อว่า สำนักสงฆ์ขันติธรรม ที่ ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2542 และได้มีการระดมเงินบริจาคในการสร้างพระแก้วมรกตจำลอง, สร้างโรงพยาบาล ฯลฯ ก่อนต่อมาในปี 2556 จะมีการสืบทราบว่า หลวงปู่เณรคำ ได้โอนเงินบริจาคเข้าบัญชีส่วนตัวเอาไปกินหรู อยู่สบาย ซื้อบ้าน ที่ดิน รถ นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และยังมีคดีพรากผู้เยาว์ด้วย 

ต่อมาทางคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษมีมติให้อาบัติปาราชิก ก่อนที่อดีตหลวงปู่เณรคำ จะหลบหนีไปยังสหรัฐฯ และถูกจับกุมส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยเมื่อปี 2560 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน, ผิด พ.ร.บ.คอมฯ, ฟอกเงิน และพรากผู้เยาว์ ศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

  • คดีเงินทอนวัด (ปี 2557-2561)

ในช่วงปี 2561 มีการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ พศ.ได้ไปติดต่อเจ้าอาวาสวัดในแต่ละจังหวัด เสนอให้เงินอุดหนุนแก่วัด แต่วัดต้องเขียนโครงการเข้ามาของบประมาณ เมื่อเจ้าหน้าที่อนุมัติ วัดดังกล่าวต้องจ่าย “เงินทอน” กลับมาเป็นสินบนให้เจ้าหน้าที่ โดยพบว่ามีการทุจริตเงินทอนวัด ตั้งแต่ ปี 2557-2561 รวมมูลค่าความเสียหาย 270 ล้านบาท ครอบคลุมวัด 40 แห่งทั่วประเทศ 

ตัวอย่างที่โด่งดังในคดีเงินทอนวัด คือ “วัดสระเกศฯ” ที่เป็นวัดใหญ่ชื่อดังในกรุงเทพฯ พบว่า มีการอนุมัติงบประมาณมหาศาลสำหรับโครงการอบรมคุณธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนา แต่เงินไม่ได้ถูกใช้งานตามจริง และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชีเจ้าอาวาส พบเงินกว่า 130 ล้านบาท และมีการโอนให้ฆราวาส 69 ล้านบาท

...

ปัจจัย “วัดไทย” เสี่ยงเป็นแหล่งทุจริต

1. จำนวนของวัดที่มีอยู่จำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วประเทศ อาจทำให้การกำกับดูแลทำได้ไม่ทั่วถึง

2. การได้เงินอุดหนุนจากรัฐ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทุจริต ขอเงินสินบนแลกการอนุมัติงบประมาณ เหมือนกับที่เคยเกิดคดีเงินทอนวัด

3. วัดมีเงินอีกจำนวนมากทั้งจากการบริจาค เช่าวัตถุมงคล-ที่ธรณีสงฆ์ และอาจมีการยักยอกนำไปใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์

4. พศ.มีการกำหนดให้วัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย นำส่งทุก 1 เดือนต่อ พศ.จังหวัด แต่รายงานเหล่านี้ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และพบว่าวัดจำนวนมากไม่ส่งรายงาน โดยจากรายงานของ กมธ.ปฏิรูปกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา พบว่าในช่วงปี 2556-2558 มีวัดส่งรายงานการเงินไม่ถึง 2 หมื่นแห่ง จาก 4 หมื่นกว่าแห่ง

5. เจ้าอาวาสจำนวนมากสูงอายุ ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ในการทำบัญชีจึงมอบหมายให้ผู้อื่น เช่น คณะกรรมการวัด หรือไวยาวัจกรเป็นผู้ทำบัญชีหรือดูแลเงินแทน เปิดช่องให้ทุจริต

...

ขอบคุณ : TDRI