เปรียบเทียบฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง กับกล้ามเนื้อพบว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีโรคประจำตัว หรือมีอาการแพ้ยา แม้การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังจะมีปริมาณวัคซีนน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่การสร้างภูมิคุ้มกันมีเท่ากัน ซึ่งมาจากผลการศึกษาเบื้องต้นในหลายประเทศ รวมทั้งไทย
แล้วการฉีดวัคซีนโควิดแบบไหนมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ก็พบว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังมีผลข้างเคียงน้อยกว่า และลดทอนอาการแพ้ที่เสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
ขณะนี้ประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีทางเลือก โดยที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้ให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 และ 4 โดยให้ผู้ที่ได้รับการนัดหมายมาฉีดวัคซีนไฟเซอร์สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกฉีดที่ชั้นผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทย พบข้อมูลเปรียบเทียบการเลือกฉีดมีความต่างกัน
เปรียบเทียบปริมาณและวิธีฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง กับกล้ามเนื้อ
การเลือกฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง กับกล้ามเนื้อจะใช้ปริมาณวัคซีนไม่เท่ากัน แบ่งเป็น 3 ขนาดตามความสมัครใจ คือ
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาดปกติ 30 ไมโครกรัมต่อโดส
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาดครึ่งโดส 15 ไมโครกรัมต่อโดส
- ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ขนาด 10 ไมโครกรัมต่อโดส
ส่วนวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะฉีดเข้าไปตรงๆ ลึกเข้าไปประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ชั้นนี้วัคซีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเร็ว ส่วนการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังจะทแยงผิวหนัง โดยร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึมวัคซีน
เปรียบเทียบผลข้างเคียงฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนังกับกล้ามเนื้อ
การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อผลหรืออาการข้างเคียงมากกว่า โดยหลายคนมีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น เป็นต้น
...
การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าประมาณ 10 เท่า ไม่ว่าจะเป็นอาการ ปวดหัว ปวดเมื่อย มีไข้ เพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่า คือ 1 ใน 5 เท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะมีเพียงอาการ คัน บวม มีตุ่มแดง แล้วหายดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังสำหรับการต้านโควิด-19 ไม่ใช่ครั้งแรกในการสู้กับโรค เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2530 ไทยเป็นประเทศแรกที่มีการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง เนื่องจากขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ต้องลดปริมาณการใช้วัคซีนเหลือ 0.1 ซีซี จากปริมาณ 0.5 ซีซี หรือ 1.0 ซีซี ที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน