8 ปี ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นทางแยกสำคัญ เพราะจากประวัติศาสตร์ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ยุติบทบาทการเมือง เมื่อครบ 8 ปี 3 เดือน ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี บนความเหมือนที่แตกต่างระหว่างยุค “ป๋าเปรม” และ “บิ๊กตู่” สะท้อนภาพอำนาจการเมือง ที่บทสรุปอาจเหมือนหรือแตกต่างกัน
แม้ยุค “ป๋าเปรม” และ “บิ๊กตู่” ห่างกันกว่า 40 ปี แต่เกมการเมืองในสภาฯ กลับคล้ายกันตามความเห็นของ “รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์กับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ความเหมือนของสองยุคนี้คือ การทำให้ผู้นำทหารรักษาอำนาจไว้ยาวนานมากที่สุด ผ่านรัฐธรรมนูญออกแบบมา เพื่อลดทอนอำนาจพรรคการเมืองในสภาฯ และเพิ่มอำนาจนายกฯ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ยุคบิ๊กตู่ ได้ลอกมาจากรัฐธรรมนูญปี 2521

ถ้าวิเคราะห์เนื้อหา “รัฐธรรมนูญปี 2521” เปรียบเทียบ “รัฐธรรมนูญปี 2560” ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งค้ำจุนเสถียรภาพรัฐบาล โดยยุคป๋าเปรม จะมีอำนาจประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในการร่วมพิจารณางบประมาณ โดยสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เป็นทหาร ข้าราชการ และพลเรือนฝั่งรัฐบาล แต่ยุคบิ๊กตู่ อำนาจสมาชิกวุฒิสภา สามารถโหวตนายกฯ ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ จึงเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจนายกฯ ที่มาจากระบบทหาร
...
“ยุคป๋าเปรม มีความพยายามต่อสู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเลือกตั้ง 1 เขต 1 คน เพื่อให้อำนาจของพรรคการเมืองในสภาเพิ่มขึ้น แต่กลับถูกต่อต้านจากสมาชิกวุฒิสภา ที่โต้แย้งว่า จะไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้แต่มาตราเดียว ทั้งนี้ในยุคบิ๊กตู่ จะเห็นการไล่ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ์นักการเมือง เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม”

การเมืองขาลงยุคป๋าเปรม และทางลงของบิ๊กตู่
“รศ.ดร.ธำรงศักดิ์” กล่าวถึงการเสื่อมถอยของอำนาจทางการเมืองยุคป๋าเปรม เริ่มเด่นชัดเมื่อรับตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 เพราะสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระดำรงตำแหน่ง ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน เช่นเดียวกับยุคบิ๊กตู่ หากรอดพ้นจากการพิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี จะได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย แต่เสถียรภาพของรัฐบาลจะลดลง เมื่อถึงเวลานั้นพรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเข้มแข็งขึ้น จนทำให้เก้าอี้นายกฯ และอำนาจของ “3 ป” เสื่อมถอยลง
“การสิ้นสุดเส้นทางการเมืองของป๋าเปรม ทำให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของนายกฯ ที่มาจากทหาร ตอนนั้นมีการล่ารายชื่อนักวิชาการและปัญญาชนเพื่อยื่นฎีกา 99 คน ซึ่งเป็นการกดดันในภาวะที่รัฐบาลป๋าเปรมสั่นคลอนเต็มที แต่ตอนนี้รัฐบาลบิ๊กตู่ เพิ่งจะเริ่มต้นสู่การเสื่อมถอยอำนาจ ดังนั้นการกดดัน จึงไม่มีผลต่อนายกฯ แต่ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระดำรงตำแหน่ง จะได้เห็นการทะเลาะกันของ 3 ป. เหมือนในอดีตที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ทั้งน้ำตากลางสภาเพื่อหลีกทางให้นายกฯ คนถัดไปมาดำรงตำแหน่งแทน”
สำหรับการบริหารงานของบิ๊กตู่ ขณะนี้เหมือน “รัฐบาลรูทีน” ทำงานแบบแก้ปัญหารายวัน ขาดการวางแผนพัฒนาในระยะยาว จึงเป็นภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ย่ำแย่มากสุดในประวัติศาสตร์ เพราะยุคป๋าเปรม คนจะนึกถึงภาพที่ปรึกษาเศรษฐกิจมีความสามารถ แต่รัฐบาลยุคนี้อยู่เพื่อรักษาอำนาจของพวกพ้อง แม้เศรษฐกิจถดถอย และการต่อต้านจากคนรุ่นใหม่มีมากขึ้น แต่เมื่อใดที่อำนาจสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้หมดลง จะเห็นการล่มสลายของรัฐบาลบิ๊กตู่ชัดเจนขึ้น
“จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะเห็นถึงการครองอำนาจของทหาร มักใช้พลังอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ช่วยเหลือเมื่อเข้าสู่เวทีการเมือง แต่พอเริ่มหมดอำนาจก็จะกลับมายึดอำนาจอีกครั้ง และก็เล่นการเมืองแบบเดิม เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการอำนาจ เพียงแต่ว่าช่วงเวลานั้นใครจะเป็นผู้นำกองทัพ การยึดอำนาจส่วนใหญ่แทบทุกยุค จะคิดกันมาตั้งแต่อยู่ในมุ้ง ส่วนประชาชนก็ต้องรับกรรมต่อการบริหารประเทศที่ผิดพลาดไม่จบสิ้นสักที”.