คนไทยและประชาคมโลกอาจเคยสดุดีผลการเลือกตั้งในมาเลเซียและพม่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตย แต่ไม่มีเสียงชื่นชมแบบเดียวกันต่อการเลือกตั้งในกัมพูชา แม้จะมีคนหลั่งไหลออกไปใช้สิทธิกว่า 70% และพรรคประชาชนกัมพูชา ที่มีนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เป็นผู้นำ ชนะแบบฟ้าถล่ม คว้าไปถึง 120 ที่นั่ง จากทั้งหมดในสภา 125 ที่นั่ง

ชัยชนะของมหาธีร์ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้ง เมื่อวัย 92 ปี หลังจากที่วางมือการเมืองไปถึง 15 ปี นานาประเทศถือว่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตยที่สามารถใช้พลังประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค และล้มรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตมโหฬาร เป็นการใช้ประชาธิปไตยปราบปรามคอร์รัปชัน

เช่นเดียวกับชัยชนะของพรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตย ภายใต้การนำของอองซาน ซูจี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 แบบฟ้าถล่ม ได้เสียงข้างมากท่วมท้นทั้งในสภาล่างและสภาสูง ทั่วโลกก็ถือว่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตยที่โค่นล้มระบอบเผด็จการที่ปกครองพม่ามากว่า 50 ปี แม้ว่ารัฐบาลทหารจะเขียนรัฐธรรมนูญสงวนอำนาจด้านความมั่นคงไว้ที่กองทัพ

ส่วนการเลือกตั้งในกัมพูชา รู้ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่มีการสมัคร ยังไม่มีการหาเสียงว่า พรรครัฐบาลจะชนะแบบฟ้าถล่ม เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีคู่แข่งตัวจริง เนื่องจากพรรคกู้ชาติกัมพูชาถูกปาฏิหาริย์การเมือง ทำให้ระดับผู้นำพรรคติดคุก หรือมิฉะนั้นก็ต้องเผ่นไปลี้ภัยในต่างประเทศ และในที่สุดพรรคก็โดนยุบ เหลือแต่พรรคเล็กๆที่เป็นแค่ไม้ประดับ

ผลการเลือกตั้งในกัมพูชาจึงไม่ใช่ชัยชนะของประชาธิปไตย แต่ในสายตาโลกประชาธิปไตยถือว่าเป็นจุดต่ำสุด เป็นอวสานของประชาธิปไตย เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ “เสรีและยุติธรรม” (freefair) ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกัน ไทยในฐานะที่เคยเป็นประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็กำลังกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง

...

เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกขนานนามว่าฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 50 ล้านคน เลือก ส.ส.ได้ 500 คน ขณะที่ คสช. ราวสิบกว่าคนแต่งตั้ง ส.ว.ได้ครึ่งหนึ่งคือ 250 คน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.มีอำนาจเท่าเทียมกันในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ 4 ปี จะเป็นชัยชนะของประชาธิปไตยหรือไม่?

ผลของซูเปอร์โพลล่าสุด พบว่ามีคนไทยถึง 81% ที่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตย แต่ความสำเร็จของการเลือกตั้งต้องดูว่าคนที่ประชาชนเลือกเข้าไป สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้หรือไม่ หรือว่าผู้ที่ประชาชนไม่ได้เลือกโผล่พรวดขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็น “โอปปาติกะ” ผุดเกิดขึ้นมาเองแบบปาฏิหาริย์.