แม้รัฐบาลมั่นใจว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ แต่ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ อาจโตต่ำกว่า 3% ในไตรมาสที่ 3 และเสนอให้รัฐบาลชะลอการใช้บังคับกฎหมาย 6 เดือน เพื่อออกเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบแรงงานต่างชาติ โดยประชาชนมีส่วนร่วม

หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีเสียงเรียกร้องให้ “ประชาชนมีส่วนร่วม” อย่างน้อยก็ในการแสดงความคิดเห็นในการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่รัฐบาลตีความว่าแค่เปิดเว็บไซต์รับฟัง หรือประชุมออกแบบสอบถาม ก็ถือว่ารับฟังความเห็นแล้ว แต่ฝ่ายนักวิชาการยืนยันจะต้องไม่ใช่เป็นแค่พิธีกรรม

รัฐธรรมนูญมาตรา 77 เขียนไว้ว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นยังไม่พอ แต่ยังต้อง “วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ” และยังต้องเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และผลการวิเคราะห์ “ต่อ ประชาชน” ด้วย และนำมาประกอบการพิจารณาในการออกกฎหมาย

ทั้งตัวหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องการให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะ “ของผู้เกี่ยวข้อง” อย่างแท้จริง เพื่อนำไปใช้ในการตรากฎหมาย และเมื่อกฎหมายใช้บังคับแล้ว รัฐธรรมนูญยังให้ “ประเมินสัมฤทธิผล” ของกฎหมายเป็นระยะๆ และรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีก เพื่อให้กฎหมายทันสถานการณ์

การแก้ไขกฎหมายขนส่ง ห้ามนั่งโดยสารในแค็บรถกระบะ จนปั่นป่วนวุ่นวายทั่วประเทศก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และการออกพระราชกำหนดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เป็นตัวอย่างของการตรากฎหมายที่ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องจนรัฐบาลต้องยอมถอย ยอมชะลอการบังคับใช้กฎหมาย

...

ถ้ารัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน จะไม่เกิดปัญหาการออกกฎหมายที่ใช้บังคับใช้ไม่ได้ เพราะขัดต่อวิถีชีวิตประชาชน หรือไม่ให้เวลาผู้ที่เกี่ยวข้องปรับตัว รัฐธรรมนูญมาตรา 77 เขียนตามหลักการประชาธิปไตย คือหลัก การที่ว่าประชาชนหรือตัวแทนประชาชน เป็นผู้มีอำนาจและความชอบธรรมในการออกกฎหมาย เพื่อใช้บังคับคนทั้งประเทศ

รัฐธรรมนูญจึงบังคับว่าก่อนออกกฎหมายทุกฉบับ ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ประชาชนมีส่วนร่วม มิฉะนั้นจะคล้ายกับเพลง “ผู้ใหญ่ลี” เมื่อปี 2504 หรือยุค 04 เนื้อเพลงตอนหนึ่งความว่า “ทางการเขาสั่งมาว่าให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร” สะท้อนว่าทางการมีอำนาจออกคำสั่ง โดยไม่ฟังเสียงประชาชน.