เดินหน้าต่อ แต่ต้องไปให้รอด

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คสช.ปล่อยลีลาความเป็น “นักการเมือง” ให้ปรากฏด้วยคำตอบสั้นๆ ว่า “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะเป็นชี้ชัดต่อไปเองว่า เราควรจะทำอย่างไรในอนาคต”

เมื่อตอบคำถามนักข่าวว่าจะอยู่ต่อไปหรือเปล่า จะตั้งพรรค การเมืองหรือเปล่า

เป็นคำตอบที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งระบบด้วยคำตอบนั้น สามารถตีความไปได้ต่างๆนานา

แต่ถ้าว่ากันโดยสรุปน่าจะตีความได้ว่าโอกาสที่จะเดินหน้าต่อมีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะนั้น
พูดง่ายๆ ก็คือมีคำตอบกลายๆ ให้นำไปคิดกันต่อ

ที่แน่นอนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ หากไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรี ก่อนวันที่ 6 ก.ค.60 ก็ไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯได้

รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล ม.263 (7) ระบุว่า เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศรัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯมิได้

เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศรัฐธรรมนูญฉบับนี้

และ ม.263 (7) นี้ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับ ครม. และผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตาม ม.264, 265 และ 266

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญได้ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 ซึ่งจะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 6 ก.ค.60 นี้

ก็หมายความว่า ทั้ง สนช. สปท. ครม. และ คสช. หากสนใจที่จะลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ต้องพ้นตำแหน่งดังกล่าวก่อนวันที่ 6 ก.ค.60

เป็นอย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่จะลาออกจากตำแหน่งสำคัญคือ นายกฯและหัวหน้า คสช.

...

แต่ประเด็นที่สนใจกันก็คือ หากเข้าสังกัดพรรคการเมือง และมีชื่ออยู่ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองนั้น จะทำได้หรือไม่
นี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องใช้กฎหมายมาตีความ

ทว่า การจะเดินหน้าต่อไปก็มีหนทาง นั่นคือ เข้ามาเป็นนายกฯคนนอก หาก ส.ว. 250 คน และ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งลงมติสนับสนุนให้ความเห็นชอบก็จะได้ตำแหน่งนี้

จังหวะการเมืองในเวลานี้ จึงคึกคักมากกว่าที่ผ่านมา สปท.จำนวนหนึ่งได้ลาออก เพราะต้องการไปเล่นการเมืองเต็มตัว เพื่อลงสมัครเลือกตั้ง

เพียงแต่ว่าจะไปตั้งพรรคการเมืองเองหรือไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น

ที่แน่ๆก็คือ คงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. หรือเป็นเพราะมีเป้าหมาย เพื่อออกไปเล่นการเมือง ตั้งเป้าหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบหนึ่ง

ที่ปรากฏมานั้น หากตั้งพรรคการเมืองก็ต้องไปรวบรวมนักการเมือง ที่แม้จะเก็บตัวเงียบ แต่น่าจะมีการติดต่อสื่อสารล่วงหน้ากันไว้แล้ว

หรือการรวบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเล็กๆให้เป็นพรรคเดียวกัน หรือให้ช่วยกันสนับสนุนให้หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ เป็น “อุดมการณ์” ร่วมกัน

ประเด็นที่สำคัญก็คือ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯก็ต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 250 ขึ้นไป จาก ส.ส.อันไม่เกี่ยวกับ ส.ว. 250 เสียง

แม้จะคุมสภาพได้ แต่บริหารประเทศไม่ได้แน่.

“สายล่อฟ้า”