ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำของผม คงจะคุ้นเคยว่าทุกวันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ผมต้องขออนุญาตเขียนถึงเรื่องราวของพรรคพวกกันเองปีละครั้ง

สำหรับปีนี้ถือเป็นปีพิเศษ เพราะเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 เจ้าของบรรณาธิการและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งหลายในประเทศไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้มาร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม ซึ่งมาถึงวันนี้ ก็ ครบ 20 ปีเต็มหรือ 2 ทศวรรษพอดิบพอดี

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ที่เป็นสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จนได้รับการยอมรับ จากผู้คนและสังคมในระดับหนึ่ง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นเพียง “เสือกระดาษ” ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บเพียงพอจะจัดการกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และหนังสือพิมพ์ที่ละเมิดจริยธรรมได้ จึงทำให้มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรมอยู่เป็นระยะๆ

น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า กลไกการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อนั้น ต้องอาศัยขบวนการผู้บริโภคสื่อที่เข้มแข็งช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบและลงโทษทางสังคมต่อสื่อที่ละเมิดจริยธรรมอีกแรงหนึ่ง

จึงมีคนบางกลุ่มมีแนวคิดที่จะออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรเข้ามาใช้อำนาจตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายต่อสื่อ โดยไม่คำนึงว่า เป็นการเปิดช่องให้อำนาจรัฐ อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและกระทบถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงจัดให้มีการสัมมนานานาชาติในหัวข้อ “ประสบการณ์การกำกับดูแลกันเองของ สื่อจากนานาชาติ” โดยมีผู้แทนของสภาการหนังสือพิมพ์และสภาสื่อมวลชนจากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมาร่วมเป็นวิทยากร ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ ราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.

...

ในส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีผู้แทนจากคณะกรรมการผู้ตรวจการสื่อหรือ Media Ombudsman ของสวีเดน ต้นแบบของสภาการหนังสือพิมพ์ที่จัดตั้งมาแล้วกว่า 250 ปี มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าการกำกับดูแลกันเองของสื่อในประเทศสวีเดนมีกลไกอย่างไร ที่ยังดำรงความเป็นอิสระของสื่อเอาไว้ได้

ขณะที่ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียก็จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการกำกับดูแลกันเองของหนังสือพิมพ์ในออสเตรเลียที่ผ่านวิกฤติต่างๆมามากมาย แต่ยังคงรักษาระบบการกำกับดูแลกันเองอย่างอิสระ

สำหรับในอาเซียน นอกจากประเทศไทยที่มีสภาการหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีประเทศอินโดนีเซียและเมียนมาที่มีการก่อตั้งสภาการสื่อมวลชนในลักษณะที่ใกล้เคียงกันคือ เป็นสภาที่มีกฎหมายรองรับให้จัดตั้งขึ้น แต่ไม่มีการใช้อำนาจลงโทษทางกฎหมายกับสื่อที่ละเมิดจริยธรรม

อีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่สุดคือ การจัดงานปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สื่อมวลชนภายใต้ร่มพระบารมีสถาบันพระมหากษัตริย์” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีที่ทรงสนับสนุนและวางรากฐานของกิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยจนเจริญรุ่งเรืองมาในทุกวันนี้ ในเวลา 19.30 น. ณ โรงแรมอโนมา เช่นกัน

โอกาสของการครบรอบ 20 ปีของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงเป็นทั้งโอกาสในการทบทวนตรวจสอบตนเองเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าและเป็นสถาบันวิชาชีพที่ทำหน้าที่วางรากฐานและกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนและเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เพราะถ้าสื่อมวลชนมีจริยธรรมแล้ว ใครก็ไม่สามารถเข้ามาคุกคามเสรีภาพของสื่อได้ ผมเชื่ออย่างนั้น และขอเป็นกำลังใจให้หนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ฝ่าฟันทั้งความพยายามเข้ามาจำกัดเสรีภาพและภาวะถดถอยของสื่อดั้งเดิมที่ต่างต้องเผชิญกันอยู่ในขณะนี้...

“ซูม”