ยังไม่ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจอย่างไร หลังจากที่นิด้าโพลเปิดเผยผลการสำรวจ พบว่า มีคนกว่า 53% สนับสนุนให้ตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้อยู่ต่อไป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไป เราควรจะทำอย่างไรในอนาคต แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับมองว่า เป็นการส่งสัญญาณเป็นนายกฯสมัยที่ 2

เสียงเชียร์ของกลุ่มตัวอย่างกว่า 53% อาจตีความว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต้องเป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญ ด้วยการตั้งพรรค หรือมีคนอื่นตั้งให้ เพื่อส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้ได้เสียงข้างมากในสภา และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะอยู่ต่อเป็น 2 สมัยรวม 8 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ย่อมได้

แต่ถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ควรจะเปิดตัว ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าจะเอาอย่างไรแน่ หากปล่อยให้อึมครึมต่อไปอาจถูกมองว่าเอาเปรียบคู่ต่อสู้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้เปรียบอยู่แล้ว สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเสรี ซ้ำยังใช้สื่อทีวีโฆษณาผลงานฟรีทุกวัน ส่วนนักการเมืองถูกห้ามเคลื่อนไหว

ขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ถูกแช่แข็ง ห้ามดำเนินกิจกรรมการเมือง นายกรัฐมนตรีจึงมี “ต้นทุน” การเมืองสูงกว่าทุกพรรค มีกองเชียร์ในหมู่ประชาชน พิสูจน์ได้จากนิด้าโพล ซ้ำยังมีนักการเมืองบางกลุ่มเตรียมรวมพรรคเล็ก เพื่อตั้งพรรคใหม่และเป็นพันธมิตรกับพรรคทหาร และมี ส.ว.อยู่ในมือถึง 250 คน

ตามรัฐธรรมนูญใหม่สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. 500 คน มาจากเลือกตั้งของประชาชน และมี ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้ง เท่ากับว่าคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศเกือบ 50 ล้านคน เลือก ส.ส.ได้ 500 คน แต่ คสช.สิบกว่าคนเลือก ส.ว.ได้ 250 คน เท่ากับครึ่งหนึ่งของ ส.ส. แต่ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ใครได้เปรียบในการชิงนายกรัฐมนตรี?

...

อาจมีผู้ทักท้วงว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ให้มี ส.ว.ได้เพียง 200 คน ไม่ใช่ 250 คน เรื่องนี้เป็นความจริง เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ให้มี ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ แต่บทเฉพาะกาลให้เพิ่มเป็น 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และเพิ่มอำนาจให้เลือกนายกฯ มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัว

นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า ถ้าจะอยู่ต่อไป ต้องอยู่อย่างสง่างาม บัดนี้นับเป็นโอกาสอันดี หากต้องการบริหารประเทศต่อไป หลังการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามกติกาของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับนักการเมืองและพรรคอื่นๆ เพื่อความสง่างามของการเข้าสู่อำนาจ เพื่อความเป็นธรรมกับคู่แข่งทางการเมือง และเพื่อความชอบธรรมของอำนาจ.