ผมลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าวันนี้ (5 มิ.ย.) เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” หากมิได้รับจดหมายข่าวที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการจัดงานด้านสิ่งแวดล้อมส่งมาถึงผมรวม 2 ฉบับ

ฉบับแรกเป็นของ บริษัทสยาม พิวรรธน์ฯ ระบุว่า บริษัทตระหนักในความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่เสมอ จึงได้จัดงาน “สยามดิสคัฟเวอรี่ อีโค แวนเดอร์ลัสต์” (Siam Discovery Eco Wanderlust) ขึ้น ที่ศูนย์การค้า สยามดิสคัฟเวอรี่ฯ เนื่องในโอกาส “วันสิ่งแวดล้อมโลก” 5 มิถุนายน

เปิดโอกาสให้คนรักสิ่งแวดล้อมไปร่วมสนุกกับหลายๆกิจกรรมเพื่อปลุกสำนึกรักษ์โลก อาทิ การรณรงค์ลดการใช้พลังงานด้วยการปั่นจักรยานเวิร์กช็อปประดิษฐ์สิ่งของสุดเก๋จากธรรมชาติ และช็อปปิ้งสินค้าอีโคสุดอินเทรนด์ต่างๆ ระหว่าง 5-7 มิ.ย.นี้

ฉบับที่สองเป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่จะจัดงานอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่เรียกว่างาน “ASEAN Sustainable Energy Week 2017” ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับอาเซียนที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่าง 7-10 มิ.ย.

ให้ข้อมูลรายละเอียดมาหลายประการทำให้ทราบว่าวันนี้ (5 มิถุนายน) เมื่อ 45 ปีก่อน หรือปี 2515 ได้มีการประชุมที่กรุงสตอกโฮล์ม โดยองค์การสหประชาชาติ ในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ UN Conference of Human Environment เพื่อสร้างความตื่นตัวและความตระหนัก ในด้านความวิกฤติของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 1,200 กว่าคน จาก 113 ประเทศ

รวมทั้งกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” มานับตั้งแต่นั้น

...

ครับ! ก็ต้องขอขอบคุณเอกสารประชาสัมพันธ์ทั้ง 2 ฉบับ ที่ทำให้ผมนึกถึง “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ขึ้นมาได้ และก็ใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวงานทั้ง 2 แห่งด้วยถ้ามีโอกาส

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ปีนี้ต้องกลายเป็นวันแห่งความเศร้าหมองไปเสียแล้วดังที่ผมพาดหัวคอลัมน์เอาไว้ สืบเนื่องมาจากการประกาศถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงปารีส” ของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 4 วันที่ผ่านมานี่เอง

เป็นการถอนตัวที่ “ช็อกโลก” และทำให้ผู้นำของประเทศสำคัญๆ หลายๆประเทศต่างออกมาประณามการกระทำของนายทรัมป์อย่างหนักหน่วง รวมทั้งประชาชนสหรัฐอเมริกาจำนวนมากที่ออกมาประท้วงถึงหน้าทำเนียบขาว

ข้อตกลงปารีส หรือเรียกกันสั้นๆว่า “ค็อป 21” เมื่อปี 2558 คือ ข้อตกลงที่มีเป้าหมายให้ชาติต่างๆลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกลงเพื่อต่อสู้ภาวะโลกร้อน

เป้าหมายสำคัญคือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้ไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม

มีการให้สัตยาบันลงนามรับรองรวม 147 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะดำเนินไปด้วยดีพ่อเจ้าประคุณทรัมป์ก็ออกมาประกาศทำตามนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสซะงั้น

โดยกล่าวหาว่าเรื่องก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องโกหกที่จีนกุขึ้น เพื่อทำลายการจ้างงานและความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ อาจจะทำให้คนอเมริกันตกงานถึง 6.5 ล้านคน

และเชื่อว่าการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของสหรัฐฯ

ทั้งๆที่ในการศึกษาของหลายๆมหาวิทยาลัยระบุว่าไม่จริงเลย การทำตามข้อตกลงปารีสจะนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่จ้างงานได้มากกว่าเสียอีก

โลกกำลังจะเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่อุตสาหกรรมสะอาดที่จะสร้างการพัฒนาแก่โลกได้อย่างยั่งยืนที่แท้จริง

กลับจะต้องถอยหลังเข้าสู่ยุคมืดแห่งการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยการทำให้โลกร้อนขึ้นอีกครั้ง เพราะคนชื่อทรัมป์แท้ๆ จะไม่ให้ผมต้อง พาดหัวคอลัมน์วันนี้ด้วยความหดหู่ได้อย่างไรล่ะครับ.

“ซูม”