ฝนตก น้ำท่วม รถติด เป็นเรื่องปกติของคนกรุง บ้านผมอยู่ริมคลองบางซื่อใกล้อุโมงค์ยักษ์ ที่สร้างยังไม่เสร็จ มองซอยหน้าบ้าน...ระลอกน้ำเล่นเงากับแดดอ่อนๆตอนเช้า ได้ความรู้สึกใหม่ๆ สดชื่น...ไปอีกแบบ

นึกถึงแล้งเดือนสองเดือนที่แล้ว...คนอีสานยังยิงบั้งไฟ ไปขอฝนกับ “แถน” เทพเจ้าบนฟ้า

เดือนหกนั้น ตามธรรมชาติจะมีฝนตกบ้าง ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงให้รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้อง “ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ต๊กพรำๆ กบมันก็ร้องงึมงัม ระงมไปทั่วท้องนา”

ปรานี วงษ์เทศ เขียนไว้ในหนังสือ ประเพณี 12 เดือน (มติชน 2548) ว่า ประเพณีการจุดบั้งไฟ เกิดจากระบบความเชื่อดึกดำบรรพ์ กว่า 3,000 ปี เกี่ยวกับกบ และคันคาก (คางคก)

พยานหลักฐานความเชื่อนี้ มีหลายอย่าง

กบสัมฤทธิ์ หน้ากลองทอง (กลองมโหระทึก) ใช้ตีขอฝน พบในอุษาคเนย์ 4,000 ปีมาแล้ว คนทำท่ากบ เป็นภาพเขียนสีบนหน้าผา ในถ้ำและสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ วาดรูปคนกางแขนขา ทำท่าเหมือนกบ

พบมากที่ชุมชนชาวจ้วง มณฑลกวางสี ของจีน และในประเทศไทยหลายแห่ง

ลายสักตามร่างกาย แขนขา ของชนเผ่ายุคแรก ทำลวดลายเหมือนผิวหนังกบจริงๆ ถือเป็นเครื่องรางปกป้องคุ้มครองให้คลาดแคล้วจากอันตราย ทำให้มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์

เหตุที่คนแต่ก่อนทำท่ากบ เพราะเชื่อว่ากบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ สื่อสารกับอำนาจอย่างหนึ่ง ทำให้มีน้ำฝนหล่นจากฟ้ามาสร้างพืชพันธุ์ธัญญาหาร

แต่ฝนก็ไม่ได้ตกมาทุกคราว ยังมีฤดูที่ฝนไม่ตก แห้งแล้ง คนจึงต้องบูชากบ เพื่อวิงวอนให้ผู้มีอำนาจบนฟ้าปล่อยน้ำฝนลงมา

ที่เป็นที่มาของการเขียนรูปไว้บูชาวิงวอน ผาลายในมณฑลกวางสี ผาแต้มริมฝั่งโขง เขาจันทน์งาม นครราชสีมา เขาปลาร้า อุทัยธานี

...

แต่การวิงวอนอย่างนี้ ก็ไม่ได้ผลเสมอไป เมื่อบูชากบไม่สำเร็จ มนุษย์ก็จินตนาการว่า ผู้มีอำนาจบนฟ้าประพฤติมิชอบ พูดดีๆกันไม่ได้ ก็ต้องใช้กำลัง

ความเชื่อนี้เป็นที่มาของนิทาน เรื่องพญาคันคาก รบฟ้าหาน้ำ หรือคางคกยกรบขอฝนจากแถนบนฟ้า

การจุดบั้งไฟพุ่งขึ้นไปบนฟ้า บังคับให้แถนปล่อยฝนลงมา เป็นวิธีการหนึ่ง

จินตนาการคนเผ่าจ้วง จากเรื่องพญาคันคาก รบฟ้าหาน้ำ มาถึงริมฝั่งโขง ถูกแต่งเติมให้หนองน้ำเป็นถิ่นที่อยู่ของนาค และน้ำผุด น้ำพุ น้ำซึม น้ำซับ รวมบ่อน้ำ คือรูนาค เป็นเส้นทางไปมาของนาค

จากความเชื่อเดิม เรื่องพญาคันคาก น้ำอยู่บนฟ้า มีพญาแถนรักษา น้ำบนฟ้าจะตกลงมาเป็นน้ำฝนได้ เปลี่ยนมาเป็น ให้นาคจากบาดาลขึ้นไปเล่นน้ำบนฟ้า

เกิดคลื่นใหญ่ไปกระทบโขดหินขุนเขาบนสวรรค์ ซึ่งก็คือหมู่เมฆ น้ำบนฟ้าจึงจะตกลงมาเป็นน้ำฝน

คำพยากรณ์เรื่องนาคให้น้ำ...กี่ตัว...ฝนตกกี่ห่า ตกที่ไหน เกิดขึ้นมาจากความเชื่อนี้

ผมพอเข้าใจที่มาของเรื่องนาคให้น้ำ อย่างปีนี้ ปีระกา นาคให้น้ำ 4 ตัว...ต้นปีน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก...แต่ติดใจ และสนุกมาก กับเรื่องพญาคันคาก ส่งบั้งไฟไปรบฟ้าหาน้ำ

มนุษย์เรานั้นทางเลือกมีจำกัด 3-4 พันปีที่แล้ว ขอกันดีๆด้วยกบไม่ได้ ก็ต้องใช้คางคก...จุดบั้งไฟขึ้นไปบังคับ

มาถึงสมัยนี้ จึงมีคนทำระเบิดจริงบ้าง ระเบิดเหมือนจริงบ้าง ก็คงทำด้วยความตั้งใจอยากให้กลัว

ต่างกันที่มนุษย์สมัยนี้ ไม่ได้ตั้งใจหาน้ำ แต่ตั้งใจหาการเลือกตั้ง

มนุษย์บางเผ่าบางจำพวก...ขาดเลือกตั้งไม่ได้...เขาเชื่อกันว่า ถ้าไม่มีเลือกตั้ง บ้านเมืองจะไปไม่รอด...

ผมเพิ่งเข้าใจ ที่ทุรนทุรายกัน เพราะอาการลงแดงจากโรคติดเลือกตั้งนี่เอง.

กิเลน ประลองเชิง