ช่างทองหลวง!

เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมาอาจทำให้หลายคนนึกไปถึงภาพ นายช่างทอง ที่เข้าถวายตัวทำงานเป็นช่างทองโบราณในรั้วในวัง

แต่ที่ “นิสิตา” กำลังพูดถึงคือ น้องๆ นักศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษา สาขางานช่างทองหลวง งานเครื่องเงิน เครื่องทองโบราณ ที่กำลังจะเป็นบัณฑิต กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เพื่อผลิตช่างฝีมือด้านงานช่างทองหลวงและเครื่องทองแบบโบราณของแต่ละชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องประดับอัญมณีแบบสากล อนุรักษ์และเผยแพร่ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งสร้างองค์ความรู้เพื่อให้ช่างทองหลวงอยู่คู่แผ่นดิน

งานช่างทองหลวง เป็นหนึ่งในงานศิลปะไทยโบราณ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในงานชั้นเลิศของแผ่นดิน ที่มีความประณีตงดงาม แต่ปัจจุบันช่างทองที่มีฝีมือหาตัวได้ยากขึ้น เพราะขาดการสืบทอดของคนรุ่นหลัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “นิสิตา” มีโอกาสได้ไปร่วมงาน “สร้างสรรค์ศิลปกรรม สวยเลิศล้ำงานช่างทอง” หรือ The 2nd RG Art Thesis & Special Project Exhibition 2016 ซึ่ง กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค.2560 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ศาลายา จังหวัดนครปฐม

เป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผสมผสานงานศิลปะร่วมสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ของงานช่างทองหลวง รังสรรค์เป็นผลงานศิลปนิพนธ์ที่มีความสวยงามทรงคุณค่า

...

เห็นผลงานของน้องๆที่นำมาจัดแสดงแล้ว ขอบอกว่าฝีมือไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แต่ถ้าจะให้นำมาโชว์หมดทั้ง 47 ชิ้น พื้นที่คงไม่พอ เลยขอใช้สิทธิ์เลือกตัวอย่างผลงานที่โดนใจ “นิสิตา” มานำเสนอ

เริ่มจาก “เดียร์” ...ธีรภัทร วณิชย์เจริญนำ ประธานรุ่นศิลปนิพนธ์ ประจำปีการศึกษา 2560 เจ้าของผลงาน เครื่องประดับไทยประยุกต์รูปสมัน บอกอย่างภาคภูมิใจว่า “การออกแบบเครื่องประดับไทยประยุกต์ของผมได้แรงบันดาลใจจากสมัน สัตว์ป่าที่สูญพันธ์ุไปแล้ว และได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้รูปแบบของงานช่างทองหลวง และงานเครื่องประดับมาประยุกต์ไว้ด้วยกัน ทั้งเทคนิคกระบวนการขึ้นรูป การเชื่อมประกอบ การทำ ตัวล็อก รวมทั้งการประดับอัญมณี ซึ่งผลงานชิ้นนี้คนสามารถนำมาสวมใส่ หรือนำไปประกอบในตัวของสมันได้ เป็นผลงานที่ผมบรรจงทำอย่างสุดฝีมือ เพราะคุณภาพงานจะบ่งบอกถึงคุณภาพคน”

ตามติดมาด้วยสาวหน้าใส “พีช”...อารีย์ กิจภูมานนท์ เจ้าของผลงาน เครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจ จากกล้วย รับช่วงสานต่อว่า “พีช มีความสนใจกล้วยเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่เกิด และเป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้ได้ทุกส่วน ทั้งยังทำเป็นอาหารคาว หวาน และยารักษาโรค จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูก แต่การทำออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการขึ้นตัวเรือน การจัดทำชิ้นงานชุดเครื่องประดับที่ต้องบูรณาการเทคนิคต่างๆที่มีความหลากหลาย กว่าจะได้ชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์ ต้องอาศัยความอดทน ตั้งใจ รวมทั้งการจัดระเบียบเวลาในการทำงาน ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด รู้สึกดีใจเมื่อผลงานออกสู่สายตาสาธารณชนและได้รับการยอมรับ”

“ตุ้ย”...เกียรติคุณ ศรีนาวางศ์ หนุ่มมาดขรึมเจ้าของ เครื่องประดับลายรดน้ำ บอกอย่างมาดมั่นว่า “ลายรดน้ำเป็นงานศิลปะที่เป็นลายประณีตศิลป์ จัดอยู่ในงานจิตรกรรมประเภทสีเอกรงค์ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งลายรดน้ำเป็นลาย หรือภาพที่ปิดด้วยทอง คำเปลว โดยในขั้นตอนสุดท้ายคือการเอาน้ำรดให้ปรากฏเป็นลายรดน้ำคือลายทอง จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากประยุกต์ให้งานจิตรกรรมไทย สร้างสรรค์ออกมาเป็นเครื่องประดับอัญมณีประกอบด้วยสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู ซึ่งลายดอกพุดตาน ที่นำมาใช้ในการออกแบบนี้ เป็นลวดลายที่เด่นชัด สามารถทำได้ และใช้ใส่ได้จริง และเป็นเอกลักษณ์ไทยที่น่าภาคภูมิใจ”

ปิดท้ายด้วย “หลิม”...จันทร์จิตรา แวงแสน สาวเก่งที่มีความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา เจ้าของผลงาน การสร้างสรรค์รอยพระบาท บอกว่า “คนไทยมักมีความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่สื่อถึงการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปยังดินแดนต่างๆ พุทธศาสนิกชนจะพากันเดินทางไปกราบไหว้ และบูชารอยพระพุทธบาทเพื่อให้เกิดสิริมงคลกับชีวิตของตนและครอบครัว จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง โดยนำเทคนิคของช่างทองหลวงมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบพุทธศิลป์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความรู้ และทักษะฝีมือที่มีความประณีตบรรจง รวมถึงการนำประสบการณ์ที่มีอยู่ออกมาใช้ ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นความภาคภูมิใจมากเพราะได้รับคำชมจากครู และเพื่อนๆ ว่าเป็นงานที่ทรงคุณค่า บ่งบอกถึงการสืบสานและอนุรักษ์งานช่างทองได้อย่างดี”

เห็นผลงานที่มาจากไอเดียและฝีไม้ลายมือของน้องๆแล้ว “นิสิตา” ว่าคงทำให้คนไทยวางใจได้ว่า งานช่างทองหลวงที่เกือบจะสูญหายไปจากแผ่นดินไทยได้ถูกสืบสานให้คงอยู่เป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินไทย

...

ที่สำคัญยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ด้วยการผสมผสานศิลปะร่วมสมัยแต่ยังคงเอกลักษณ์ไทยออกอวดสายตาผู้คน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ออกไปแข่งขันกับตลาดโลก

เรียกว่าได้ทั้ง “เงิน” ได้ทั้ง “กล่อง” เลยทีเดียว!!!

นิสิตา