การผนึกกำลังของ สมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) เพื่อเรียกร้องให้ เฟซบุ๊ก ปิดเพจที่ผิดกฎหมายไทย ถือเป็นปรากฏการณ์น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของไทยที่ให้จัดการกับเพจป่วนเมือง แต่ตอนนี้เฟซบุ๊กยอมให้ความร่วมมือกับไทยอย่างดี พร้อมที่จะปิดเพจให้ทันทีเมื่อมีหมายศาล
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไอเอสพีของไทยพัฒนาจนแข็งแกร่งพอที่จะต่อรองกับเฟซบุ๊ก และอีกมุมหนึ่งคงเป็นเพราะเฟซบุ๊กเห็นว่าไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ เท่ากับว่า วงการไอทีของไทยขึ้นชั้นสู่ระดับสากล แล้ว
งานนี้ต้องยกความดีให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันไอเอสพีให้รวมตัวเจรจากับเฟซบุ๊ก
หากมองย้อนไปเมื่อปี 2555 ประเทศไทยยังล้าหลังด้านโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือใช้แค่คลื่น 2 จี ต่อมา กสทช.ยกเลิกระบบสัมปทานมาเป็นจัดประมูลคลื่น 3 จี และ 4 จี จนปัจจุบันคนไทยใช้งานโมบายอินเตอร์เน็ตผ่านแอพพลิเคชั่น ไลน์ มากกว่า 30 ล้านบัญชี เฟซบุ๊ก มากกว่า 40 ล้านบัญชี และ ยูทูบ ประมาณ 30 ล้านบัญชี โดยเฉพาะยูทูบนั้นคนไทยใช้เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 120 ล้านเลขหมาย
การพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สังเกตจากการที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จัดทำดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Development Index) โดยดูจาก การเข้าถึง การใช้งาน และ ทักษะด้านไอซีที ในประเทศนั้น ปรากฏว่าไทยขยับจากอันดับ 92 ในปี 2555 มาอยู่ที่อันดับ 82 ในปี 2559 และเป็นอันดับที่ 11 ในเอเชียแปซิฟิก
...
ในการประชุม ASEAN Telecommunication Regulators’ Council (ATRC) ครั้งล่าสุดที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของอาเซียน คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้รับมอบหมายจากประธาน กสทช.ให้ไปหารือ แนวทางการกำกับดูแลบริการประเภทโอทีที (over–the–top) โดยได้เสนอให้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโอทีที ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และ ผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรกำกับดูแลของแต่ละประเทศสมาชิก ในช่วงปลายปีนี้ ปรากฏว่าเพื่อนสมาชิกล้วนเห็นชอบกับข้อเสนอของไทย
นอกจากนี้มีหลายประเทศได้ร่วมมือแบบทวิภาคีกับสำนักงานกสทช.ในระดับองค์กร เช่น กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารของญี่ปุ่น ทำความร่วมมือเรื่อง บริการโรมมิ่งข้อมูล เมื่อปี 2558 ทำให้ ค่าบริการดาต้าโรมมิ่งแบบเหมาจ่ายต่อวัน ราคาถูกกว่าค่าบริการอินเตอร์เน็ตผ่าน พ็อกเกตไวไฟ ซึ่งขณะนั้นได้รับความนิยมมาก ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค และตอนนี้ กระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชนของรัสเซีย ก็กำลังประสานความร่วมมือกับไทยในเรื่องบริการโรมมิ่งข้อมูลแบบเดียวกับญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission : FCC) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการสื่อสารทั้งหมดผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์เคเบิลและดาวเทียมของสหรัฐอเมริกา ได้ติดต่อเป็นการภายในกับสำนักงาน กสทช. เพื่อร่วมมือกันในอนาคตอันใกล้ ส่วน สถานทูตแคนาดา ก็ส่งตัวแทนมาประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
ถึงแม้ กสทช.เป็นองค์กรอิสระหน้าใหม่อายุไม่ถึง 10 ปี แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงและการวางเป้าหมายที่ชัดเจน จึงปูพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง ก้าวขึ้นชั้นสู่ระดับอินเตอร์ได้อย่างรวดเร็วและสง่างาม.
ลมกรด