เป็นไปตามความคาดหมาย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ผ่านร่างกฎหมายจัดระเบียบสื่อมวลชน หลังจากที่มีการอภิปรายอย่างเข้มข้น ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสายทหาร ตำรวจและข้าราชการ แต่ก็ยังถือว่า เป็นข่าวดีสำหรับสื่อ ที่นายกรัฐมนตรียังเปิดทางรับฟังความคิดเห็น ไม่ถึงกับปิดประตูรับฟัง

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อมวลชนของ สปท.ยอมถอยเล็กๆ 2 ก้าว ด้วยการเปลี่ยนคำที่ว่า สื่อต้องตีทะเบียน ขอ “ใบอนุญาต” เป็น “ใบรับรอง” และเลิกล้มการลงโทษจำคุก 3 ปี กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไม่มีใบอนุญาต และเจ้าของ สื่อที่รับเข้าทำงาน ประธาน กมธ.กล่าวว่าเป็นการถอยมากที่สุดในชีวิต เพราะไม่เคยถอยถึงเพียงนี้

น่าเห็นใจท่านประธาน กมธ.ที่มาจากนายทหารใหญ่ ซึ่งอาจไม่เคยยอมถอยมาก่อน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่การถอยหรือไม่ถอย แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับกฎหมายสำคัญ เป็นเรื่องของความถูกต้องและความชอบธรรม เป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพในการพูดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่? และขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดหรือไม่?

จากคำอภิปรายของสมาชิก สปท. เห็นได้ชัดว่า มีแนวความคิดต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยึดหลักเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนอีกฝ่ายยึดแนวทางอำนาจนิยม หรือเผด็จการ สะท้อนจากคำอภิปรายที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ บางคนประกาศ ว่า “ไอ้สื่อพวกนี้ จริงๆมันต้องจับไปยิงเป้า” และโจมตีสื่อที่เสนอข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สปท.บางคนกล่าวว่า สื่ออ้างตัวเป็น “ฐานันดรที่สี่” ที่มีอภิสิทธิ์ซึ่งไม่ตรงกับความจริง คำว่าฐานันดรที่สี่เป็นสมญานามของหนังสือพิมพ์ ในยุคเปลี่ยนแปลง การปกครองของยุโรปยุคแรกๆ แต่สื่อในปัจจุบันไม่มีใครอ้างตัวเป็นฐานันดรที่สี่ เพียงแต่เรียกร้องรัฐบาลให้ยึดหลักเสรีภาพประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ ส่วน “ใบอนุญาต” เป็นกฎหมายคุมสื่อในยุโรป ที่เลิกล้มมาแล้วหลายศตวรรษ

...

สมาชิก สปท. หลายคนยืนยันต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ เพื่อให้เสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นตามแนวทางของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและพัฒนาประเทศ ตามแบบอย่างสิงคโปร์กับจีน ซึ่งเป็นอำนาจนิยมและคอมมิวนิสต์ ทำไมจึงไม่คิดเอาแบบอย่างประเทศประชาธิปไตย ที่รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและพัฒนาประเทศได้ และสื่อก็มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

สมาชิก สปท. ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีภารกิจคือศึกษาและเสนอแนะแนวทาง ในการปฏิรูปทุกด้านรวมทั้งสื่อ เราจะปฏิรูปประเทศให้ถอยหลังหรือก้าวไปข้างหน้า หวังว่าองค์กรสื่อจะมีโอกาสได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐบาลและภาคประชาชน เพื่อร่วมกันหาทางปฏิรูปสื่อ ให้มีเสรีภาพและความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย.