กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯให้ข่าวว่า ประธานาธิบดี สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้โทรศัพท์สายตรงมาพูดคุยกับผู้นำ ประเทศไทยและสิงคโปร์ เพื่อสร้างความเข้าใจหากสหรัฐฯจะมีการใช้มาตรการรุนแรงกับ เกาหลีเหนือ ถึงแม้จะมีการปิดข่าวกันเงียบเพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญระดับชั้นความลับด้านความมั่นคงของประเทศ เพราะถ้ารัฐบาลแถลงข่าวว่า ทรัมป์ โทรศัพท์มาหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซักซ้อมความเข้าใจหากสหรัฐฯจะใช้ขีปนาวุธถล่มเกาหลีเหนือ คงแตกตื่นกันน่าดู เศรษฐกิจบ้านเราที่กำลังจะทรงตัวคงล้มไม่เป็นท่า ประเทศสิงคโปร์ เองก็ปิดข่าวนี้ เป็นความลับ เพราะฉะนั้นการที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงเรื่องนี้ น่าจะเป็นเหตุผลกลยุทธ์ทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ เป็น สงครามกันชน ระหว่างประเทศมหาอำนาจ จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย อย่างที่รู้ๆกันอยู่

อาจจะมีคำถามว่า ทำไม ทรัมป์ ไม่คุยกับผู้นำ มาเลเซีย ซึ่งอยู่ในโซนเดียวกัน คำตอบคงจะเดาไม่ยาก เพราะมาเลเซียเอง สหรัฐฯได้เข้ามาปักหมุดไว้นานแล้ว เนื่องจาก ฟิลิปปินส์ ที่สหรัฐฯเคยใช้เป็นฐานอำนาจ หลังจากเปลี่ยนผู้นำก็เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป หัน ไปเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น ส่วน พม่า กัมพูชา ลาว ตามศักยภาพแล้วยังไม่ใช่พื้นที่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปปักหมุด

รวมทั้งถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯที่ว่า ทรัมป์ ได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกับ ผู้นำของญี่ปุ่น เป็นประจำ ถือว่าเป็นผู้นำในเอเชียที่ ทรัมป์ ให้ความสนิทสนมมากที่สุด จีนเองก็มีการพูดคุยกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเช่นกัน ส่วน เวียดนาม ไม่ต้องไปพูดถึงด้วยเหตุผลความสัมพันธ์เชิงลึกกับสหรัฐฯตั้งแต่อดีตและความขัดแย้งปัญหาเขตแดนกับจีน เวียดนาม จึงเสมือนกับเด็กปั้นที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

...

เป็นยุทธศาสตร์ที่เหนือชั้นของทรัมป์

การแถลงผลงานครบ 100 วันของ ทรัมป์ ที่ส่งสัญญาณว่า ทรัมป์ มีจุดยืนเป็นตัวของตัวเองชัดเจน การแสดงว่า ไม่แคร์สื่อ ของ ทรัมป์ โดยไม่ไปร่วมงานที่สื่อทำเนียบขาวจัดขึ้น ตีความว่า ทรัมป์ อาจจะตัดสินใจที่จะใช้ความรุนแรงกับเกาหลีเหนือเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งๆที่ ทรัมป์ ไม่เคยมอง ยุทธศาสตร์เอเชีย ในระหว่างหาเสียงเลย แสดงอาการไม่เห็นด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเมื่อครั้งหนึ่ง เกิดสงครามเวียดนาม ได้ การที่จะเกิด สงครามคาบสมุทรเกาหลี ขึ้นมาอีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ร่องรอยความขัดแย้งจาก พื้นที่ทับซ้อนในหมู่เกาะทะเลใต้ ที่ จีน ยืนยันว่า เป็นอาณาเขตของจีน สร้างความไม่พอใจให้กับ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เวลาเดียวกัน จีน ก็คุยกับ เกาหลีเหนือ ได้ตลอดเวลา ผู้นำคนสำคัญของเกาหลีเหนือบางคน จีน ก็ให้ความดูแลเป็นพิเศษอยู่ด้วย

การกระทบชิง ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ ที่ด้านหนึ่งคือการเจรจาทางการทูต ด้านหนึ่งเปิดศึกสงครามเย็น ในขณะที่ รัสเซีย ยังวุ่นอยู่กับการจัดการปัญหาการก่อการร้ายใน ซีเรีย ที่ สหรัฐฯ ก็มีส่วนเข้าไปจุดชนวนเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์ กำลังเดินเกมกลับมาเป็นพญาอินทรีอีกกระทอก

เพราะฉะนั้นถ้ามองว่าการซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นการ สร้างสมดุลโลก ก็จะสบายใจขึ้นเยอะ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th