โฉบไปโฉบมาให้โลกลุ้นระทึก

กับปรากฏการณ์กองเรือจู่โจมสหรัฐฯนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน ที่ยังไม่ยอมเฉียดใกล้จุดหมายปลายทางคาบสมุทรเกาหลี ตามเป้าประสงค์ป้องปรามรัฐบาล “เกาหลีเหนือ” ไม่ให้พัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ไปมากกว่านี้

กระนั้น การเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างพญาอินทรีกับโสมแดงครั้งนี้ สิ่งที่น่าจับตามากกว่าอะไรอื่น คือการปรากฏตัวของเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ “ยูเอสเอส มิชิแกน” ระวางกว่า 18,000ตัน เข้าจอดเทียบท่าเมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในบรรดาอาวุธทางยุทธศาสตร์บนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะน่ากลัวเท่ากับเรือดำน้ำ ที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในน่านน้ำฝ่ายตรงข้าม และยิงโจมตีถล่มเป้าหมายได้อย่างไม่ทันตั้งตัว กว่าจะออกไล่ล่าตรวจจับ เรือดำน้ำก็หนีหายไปใต้สมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลไปแล้ว

อย่างเรือชั้นโอไฮโอสหรัฐฯนี้ ถือเป็นมรดกอาวุธทำลายล้างโลก ตกทอดจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ-สหภาพโซเวียต สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ.2523 ตามยุทธศาสตร์ป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ โดยกรณีที่เกิดสงครามขีปนาวุธนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ ย่อมหมายถึงความพินาศแหลกลาญของฝ่ายที่ถูกโจมตีก่อน

ซึ่งตามตรรกะเมื่อถึงเวลาที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของเรือชั้นโอไฮโอที่กบดานอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก ในการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปไทรเดน 2 ดี 5 สวนคืน โดยบนเรือมีบรรจุ 24 ลูก แต่ละลูกแตกเป็นหัวรบนิวเคลียร์ 8 หัวรบ เท่ากับว่าบนเรือดังกล่าว มีนิวเคลียร์อยู่ถึง 192 หัวรบ

อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดสงครามเย็น และการลงนามสนธิสัญญาสตาร์ตว่าด้วยการลดหัวรบนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย ต่อมา ได้ทำให้ทัพเรือสหรัฐฯปรับปรุงเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ 4 ลำ จากทั้งหมด 18 ลำ เป็นเรือดำน้ำจู่โจม ท่อยิงนิวเคลียร์ถูกเปลี่ยนมาใช้ยิงขีปนาวุธอย่าง “โทมาฮอว์ก” พร้อมทั้งติดตั้งเอเอสดีเอส ระบบปล่อยหน่วยรบพิเศษ “ซีลทีม” จากใต้ทะเล แทรกซึมขึ้นฝั่งหลังแนวรบ

...

ด้วยความน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ จึงทำให้เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอได้รับเกียรติพิเศษ ตั้งชื่อเรือตามรัฐต่างๆในสหรัฐฯ ไม่ว่ามิชิแกน อลาสกา ไวโอมิง อลาบามา ฯลฯ ซึ่งปกติจะสงวนไว้สำหรับเรือรบผิวน้ำขนาดใหญ่เท่านั้น.

ตุ๊ ปากเกร็ด