ร้อนปรอทแตก ปลาอยู่ในน้ำยังมีปัญหาแล้วสัตว์บกจะไปเหลืออะไร... เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ศูนย์วินิจฉัยโรคสัตว์บก ซีพีเอฟ เตือนให้เกษตรกรเตรียมรับมือด้วยการดูแลสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ให้เหมาะสม
อากาศร้อนส่งผลทำให้หมูหายใจหอบแรง กินอาหารลดลง หากร้อนต่อเนื่องหลายวัน แม่อุ้มท้องแก่อาจเกิดการแท้งได้ ฉะนั้น เกษตรกรต้องสำรองน้ำกิน-น้ำใช้ให้เพียงพอ
ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในระบบอีแวป จะต้องใช้น้ำทั้งกิน และใช้เฉลี่ยวันละ 130 ลิตรต่อตัว ส่วนฟาร์มหมูขุนใช้เฉลี่ยวันละ 40 ลิตรต่อตัว พร้อมทั้งหมั่นตรวจอย่าให้มีรอยรั่วที่อากาศร้อนจากภายนอกจะผ่านเข้ามาได้ และในช่วงที่อากาศร้อนจัดอาจต้องขังน้ำในรางอาหารของแม่หมูหรือเพิ่มรางน้ำให้หมูขุนได้กินอย่างเพียงพอ และสะดวกต่อการกิน ส่วนโรงเรือนที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรขังน้ำให้พอดีระวังอย่าให้ขาดน้ำ สามารถเพิ่มการสเปรย์น้ำในโรงเรือนเพื่อลดอุณหภูมิ แต่ต้องระวังอย่าให้พื้นแฉะและมีกลิ่นก๊าซแอมโมเนีย ที่จะทำให้สัตว์ยิ่งเครียดมากขึ้น จึงควรผสมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กิน 3-5 วันติดต่อกัน เพื่อลดความเครียด
ส่วนการเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ปกติจะต้องกินน้ำอย่างน้อย 2 เท่าของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน หากไก่ขาดน้ำ จะกินอาหารลดลง เกิดภาวะเครียด อัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตลดลง ภูมิคุ้มกันโรคลด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย
ไก่ที่ได้รับน้ำไม่เพียงพอจะสังเกตได้จากอาการซึม แข้งไก่มีลักษณะแห้งจากสภาพแห้งน้ำ ถ้าไก่สูญเสียน้ำไปกว่า 1 ใน 10 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในร่างกายจะทำให้ไก่ตายได้ ดังนั้น จึงต้องมีน้ำให้ไก่จิกกินได้ตลอดเวลา และสามารถผสมวิตามินละลายน้ำให้ไก่กิน 3–5 วันติดต่อกัน ได้เช่นกัน
...
ที่สำคัญต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพน้ำ สีต้องใส ไม่ขุ่น รสชาติไม่เค็ม ถ้าหากน้ำมีความขุ่นควรนำสารส้มไปแกว่งในน้ำเพื่อให้ตกตะกอนก่อน โดยใช้สารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่ความเข้มข้น 3-5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) จะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ท้องเสียได้
นอกจากนี้ ต้องไม่ละเลยการป้องกันโรคและสัตว์พาหะ เช่น นก หนู แมลง ยุง เพราะจะเป็นตัวนำเชื้อโรคจากภายในโรงเรือน และเกษตรกรควรเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสัตว์แต่ละหลังด้วย.
สะ–เล–เต