หยุด! ตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน
เป็นคำจำกัดความครอบคลุมเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อกับความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออกกับประชาชน
ความเป็นอิสระในการแสดงเสนอข่าวสารและข้อเท็จจริง การแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างเพื่อประโยชน์ของประชาชน
หรือจะพูดว่าเป็นตัวแทนของประชาชนก็ว่าได้
การที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่กระทบต่อการประกอบอาชีพในด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งระบบ
ด้วยเหตุผลที่อ้างกันว่าเพื่อเป็นการจัดระเบียบใหม่และทำให้อาชีพนี้ได้รับการยกย่องยอมรับให้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
สาระสำคัญก็คือ ให้มีการตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน แห่งชาติ โดยให้ภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการร่วมกับตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ
มีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งจะต้องครอบคลุม 6 เรื่อง เช่น การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารจะต้องถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
กำหนดโทษจำคุกสำหรับกรณีสื่อมวลชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน องค์กรสื่อมวลชนรับบุคคลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามาทำงานจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
จะต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมทุก 1 ปี หากไม่ผ่าน ก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ถึงกับมีการนำไปเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หมอนวดที่ต้องขึ้นทะเบียนทุกคน
อ้างเหตุด้วยว่าที่ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็เพราะที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อที่ตั้งกันเอง ควบคุมตรวจกันเองนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
พูดง่ายๆก็คือคุมกันไม่ได้
ว่าที่จริงแล้วทุกวันนี้ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ ไม่ว่าจะแขนงใดล้วนมีการควบคุมอยู่หลายส่วนอยู่แล้ว เบื้องต้นก็บริษัทในสังกัดที่จะต้องบรรจุเข้าเป็นพนักงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลทั้งความประพฤติและจริยธรรมอยู่แล้ว
...
นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายทั้งอาญาทั้งแพ่งกำกับอยู่ หากมีการกระทำความผิดไปหมิ่นประมาท ละเมิดผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้อยู่แล้ว
ไม่ใช่มีอภิสิทธิ์เหนือไปกว่าผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ
เป็นความเท่าเทียมกันทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม เดียวกัน
เพียงแต่อาชีพสื่อมวลชนนั้นมีลักษณะจำเพาะ นอกจากนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริงและสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางรอบด้าน
มีความเป็นอิสระเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมประเทศ
หากสื่อมวลชนไม่มีความเป็นอิสระ ถูกครอบงำจากรัฐ ถูกจำกัดสิทธิภายใต้กฎกติกาของสภาวิชาชีพคงไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ได้
จะเป็นปากเสียงให้ชาวบ้านก็ทำได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะเหมือนมีอะไรกดทับอยู่ โดยเฉพาะความเห็นที่ตรงข้ามกับรัฐ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรปฏิรูปกลับไม่ทำ ไม่เร่งรัด แต่กลับหันมาจัดการ “สื่อ” ด้วยหลักคิดบนพื้นฐานที่ไม่เข้าใจแม้แต่น้อย
ทุกวันนี้ที่คุมสื่อจริงๆ ก็คือประชาชนไม่ใช่การใช้กฎหมายเผด็จการ.
“สายล่อฟ้า”