รวดเร็ว ทันใจ และตรงไปตรงมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา นายวรยุทธ อยู่วิทยา พบว่า มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้ถูกดำเนินคดี
รายงานของคณะกรรมการซึ่งมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ระบุว่ามีการสมคบคิดอย่างเป็นขบวนการ ร่วมมือ กันอย่างผิดปกติ เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ เช่น ใช้อิทธิพลบังคับให้พันตำรวจโท ธ. เปลี่ยนความเห็นเรื่องความเร็วของรถผู้ต้องหา ในขณะที่ชนผู้ตาย จาก 177 กม.ต่อ ชม. เหลือเพียงไม่เกิน 80 กม.
ประธานคณะกรรมการกล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีที่น่าอับอายสำหรับบุคคลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ที่พบว่าก่อนจะมีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับคดีนี้ คนไทยมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม 2.40 คะแนน จากคะแนนเต็ม5 ลดเหลือ 0.99
มีถึง 46% ที่ให้ 0 คะแนน หลังจากที่คดีนี้เป็นข่าวครึกโครม เพราะเชื่อว่าคดีนี้มีการเมืองและอิทธิพลนายทุนแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ ในการอำนวยความยุติธรรม และผดุงความยุติธรรมในสังคม กลายเป็นผู้บดขยี้ทำลายความยุติธรรมเสียเอง สังคมไทยจะอยู่อย่างสงบสุขได้หรือ
อันที่จริงคดีขับรถโดยประมาททำให้คนอื่นถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ความผิดทางอาญาที่ร้ายแรง เพราะเป็นการกระทำโดยประมาท ไม่ใช่โดยเจตนา รถชนคนตายเป็นแค่ข่าวเล็กๆ เพราะเกิดขึ้นแทบทุกวันในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุอันดับต้นๆของโลก ศาลมักเห็นใจจำเลย เว้นแต่กรณีเมาแล้วขับ หรือขับชนคนแล้วหนี
คณะกรรมการเสนอให้ดำเนินการ ทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่รัฐ 8 กลุ่ม รวมทั้งตำรวจ อัยการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และทนายความผู้ทำผิดกฎหมาย หวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซ้ำรอยคดีที่อื้อฉาว โดยยึดหลักบุคคลเสมอกันในกฎหมาย และไม่มีอคติ “คุกมีไว้ขังคนจน”
คณะกรรมการยังขอเวลาอีก 30 วัน เพื่อเสนอแนะแก้ไขข้อกฎหมายปฏิรูปให้ชัดเจน เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นบุญคุณ สำหรับคนไทยและประเทศไทย เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะบังคับไว้ว่า ต้องจัดทำกฎหมายปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี ก็ยังไม่มีอะไร เพลง “ขอคือความสุขให้เธอ...” ก็หายไป.