กรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้องทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ในข้อหาขับรถชนคนตายโดยประมาท และสำนักงานตำรวจ แห่งชาติก็ไม่เห็นแย้ง ที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้ มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยด่วน แต่ในความเป็นจริง การปฏิรูปที่เรียกร้องทำไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิรูปการเมืองให้ดีเสียก่อน
สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของกลุ่มนิสิตนักศึกษา เยาวชน นักการเมือง และประชาชนบางส่วน ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ผ่านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่เข้าสู่อำนาจด้วยการยึด หรือด้วยการแต่งตั้ง ส.ว.เพื่อให้เลือกตนเป็นนายกรัฐมนตรี
พูดง่ายๆก็คือ การเมืองของประเทศจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้ก่อน เป็นระบอบการปกครองที่ยึดหลัก “นิติธรรม” ยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด ไม่ใช่ยึดตัวบุคคลเป็นใหญ่ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพ และกฎหมายคุ้มครองเท่าเทียมกัน
กฎหมายจะต้องไม่คุ้มครองเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย และมีอำนาจ แต่ไม่คุ้มครองกลุ่มคนที่ตํ่าต้อย น้อยหน้า ทำให้ “คุกมีไว้ขังคนจน” สาเหตุสำคัญที่มีเสียงเรียกร้องให้นำคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ฟ้องศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากคนส่วนใหญ่เชื่อในความอิสระของศาล
เหมือนกับที่สังคมเคยเชื่อถือในองค์กรอิสระ เพราะเชื่อว่ามีความเป็นอิสระ และใช้วิจารณญาณที่ถูกต้อง เพื่อวินิจฉัยกรณีต่างๆอย่างตรงไปตรงมา แต่สังคมไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมบางระดับ ไม่เชื่อว่าการสอบสวนดำเนินคดีจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก ไม่มีอำนาจใดๆแทรกแซง
...
จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ แม้แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ อย่างองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ หรือแอมเนสตี้ฯ ก็ยังยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ผบ.ตร.ขอให้ตำรวจเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบ ไม่จับกุมดำเนินคดี
จดหมายของแอมเนสตี้ฯระบุว่า ไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง จึงต้องรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชน น่าน้อยใจที่ต้องให้ต่างชาติมาสั่งสอนให้รัฐไทยเคารพเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไทย.