เช้าวันอังคารที่ 3 มีนาคม นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ร่วมกันจัดประชุมทางไกล (teleconference) กับรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติทั่วโลก โดยเฉพาะ รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติกลุ่ม G7 เพื่อหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจาก ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ผู้ติดเชื้อล่าสุดวันอังคารอยู่ที่ 90,000 กว่าคนแล้ว คงครบแสนคนในอีกไม่กี่วันนี้แน่นอน
ทันทีที่ข่าวนี้รั่วออกไปวันจันทร์ ดัชนีหุ้นดาวโจนส์สหรัฐฯก็พุ่งขึ้นไปกว่า 1,293 จุด บวกขึ้นไปกว่า 5% หลังจากที่ทำสถิติติดลบไปกว่า 3,580 จุด ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับร้อยละ 1.50-1.75 สู่ระดับร้อยละ 1.00-1.25 ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงให้คำมั่นว่า เฟดจะใช้เครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อหนุนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ได้ประกาศร่วมมือกันใช้มาตรการทุกอย่างสร้างความเชื่อมั่น เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดเงิน ที่กำลังถูกสั่นคลอนจากไวรัสโควิด-19
แต่ดูเหมือนการแถลงของ ประธานเฟด จะยังไม่ทันใจคนใจร้อนอย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งทวีตข้อความทันทีเมื่อวันจันทร์ว่า
“นายเจอโรม พาวเวล และเฟด ยังคงดำเนินการล่าช้าเหมือนเดิม ขณะที่เยอรมนีและประเทศอื่นๆต่างกำลังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางประเทศอื่นๆต่างดำเนินการในเชิงรุกมากกว่าเฟด ขณะที่สหรัฐฯควรมีอัตราดอกเบี้ยตํ่าที่สุด แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้เรากำลังเสียเปรียบ เราควรจะเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ตาม”
...
ผู้นำสหรัฐฯโจมตีประธานแบงก์ชาติสหรัฐฯอย่างดุเดือด
สำหรับดอกเบี้ยประเทศไทย กนง. คณะกรรมการนโยบายการเงิน แบงก์ชาติ จะมีการประชุมวันที่ 25 มีนาคม หลังธนาคารกลางสหรัฐฯหนึ่งสัปดาห์ ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ผมก็เชื่อว่า กนง. คงไม่ฝืนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนล้าของไทย ลดดอกเบี้ยจาก 1% ในปัจจุบันลงเหลือ 0.75% อย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค แบงก์ชาติ ก็ออกมาแถลงนำล่วงหน้าแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้จะดิ่งลงลึกสุด ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยแบงก์ชาติประเมินว่าสถานการณ์จะมีผลกระทบใน 2-3 เดือน เฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ เบื้องต้นมีนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 45% โดยแบงก์ชาติหวังว่า ในเดือนมีนาคมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นจากสองเดือนก่อนหน้า
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังได้ออกมาตรการด่วนเชิงรุก เพื่อช่วย แก้ปัญหาหนี้ธุรกิจทุกประเภท และหนี้ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และ ปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น พักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ต่ำกว่าร้อยละ 10 เพิ่มวงเงินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ โดยกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราว 2 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 ถือเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติออกมาตรการเชิงรุกแบบนี้
เชื้อไวรัสโควิด-19 กลัวความร้อน เดือนมีนาคมนี้อุณหภูมิประเทศไทยเริ่มร้อนขึ้นแล้ว เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนในเดือนเมษายน ผมเชื่อว่า ไวรัสโควิด-19 คงจะอยู่ยากในประเทศไทย ไม่ทนทานเหมือนรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว
ถ้า กนง.ลดดอกเบี้ยลงปลายเดือนนี้ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นในไตรมาส 2 แน่นอน แม้จะมีรัฐบาลโหลยโท่ยก็ตาม พระสยามเทวาธิราช คุ้มครองประเทศไทยเสมอ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”