ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ ส.ส. ทั้งจากพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไว้พิจารณาวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว กรณีที่มีปัญหาว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเป็นการตราขึ้นโดยไม่ชอบ จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.เสียไปเพียงบางส่วน หรือทั้งฉบับ เนื่องจาก ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

ทุกฝ่ายคงต้องรอคอยคำวินิจฉัยของศาลด้วยความระทึกใจ เนื่องจากเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับประเทศ และอาจเป็นเหตุให้การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 3.2 ล้านล้านบาท ต้องล่าช้าออกไป ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างแรง ถึงขั้นที่อาจไม่มีเงินจ่ายเป็นเงินเดือนให้ข้าราชการหลายล้านคน

ประเด็นสำคัญที่ศาลจะวินิจฉัย ตามคำร้องหลายประเด็นนั่นก็คือเป็นร่างกฎหมายที่ตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่ชอบจะทำให้ตกไปทั้งฉบับหรือเพียงบางส่วน เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีความเห็นต่าง 2 สำนัก คือนักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน และมีนักกฎหมายอิสระเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วย

ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลรวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนมั่นใจว่าเตรียมรับมือไว้หลายแนวทาง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าปัญหานี้จะไม่มีผลกระทบรุนแรง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 ระบุว่า ถ้า ส.ส.พิจารณาไม่เสร็จ ภายใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาผู้แทนฯเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นั้น

แต่นักกฎหมายจากพรรคเพื่อไทย นำโดย ดร.โภคิน พลกุล โต้แย้งว่ากรณีนี้ ไม่เข้าข่ายมาตรา 143 เนื่องจาก ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็นชอบแล้ว จึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 ขณะเดียวกัน มีนักกฎหมายอิสระเข้าร่วมวงด้วย คือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

...

อาจารย์บวรศักดิ์ยกตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 กรณี ที่มีปัญหา ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน กรณีแรกคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีที่สองเป็นร่าง พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน ศาลวินิจฉัยว่าตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเสียบบัตรแทนกัน และมีประเด็นความไม่ชอบ ของเนื้อหาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ จึงตกไปทั้งฉบับ

กรณีนี้มีเพียงเรื่องเดียวคือ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ศาลเคยวินิจฉัยว่าเป็นการตรากฎหมายโดยไม่ชอบ ขัดต่อหลักการ ส.ส.คนหนึ่งลงคะแนนได้แค่หนึ่งคะแนน ละเมิดหลักการพื้นฐานความเป็น ส.ส. คือความซื่อสัตย์สุจริต ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อปวงชนชาวไทย แต่ไม่มีปัญหาเนื้อหาร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ต้องติดตามกันต่อไป.