มรสุมการเมืองลูกใหญ่ๆ ที่เชื่อว่าจะถล่มประเทศไทยในปีนี้ ได้แก่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล และพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ สองประเด็นแรกคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ราบรื่นหากไม่เปิดกว้าง

พรรคเพื่อไทยประกาศว่า จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 5 คน รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายา “ศรีธนญชัยรอดช่อง” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการพิเศษของพรรคเพื่อไทย บอกว่าจะหารือกับ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะซักฟอกรัฐมนตรีคนไหนอีกบ้าง ส่วน 5 คน มีพยานหลักฐานพร้อม รับรองว่าไม่ผิดหวัง

แต่เหตุที่อาจทำให้ประชาชนผิดหวัง คือการที่นายกรัฐมนตรีคัดค้านการพูดเรื่องเก่าๆ เพราะรัฐบาลเพิ่งจะเข้ารับหน้าที่แค่ 5 เดือน ต้องอภิปรายแค่การทำงาน 5 เดือน แต่ ร.ต.อ.เฉลิมไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลนี้ทำงานต่อเนื่องมาโดยตลอด

มีรองนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คน ที่เห็นควรห้ามอภิปรายเรื่องในอดีต ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่บอกว่าอดีตไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบัน แต่รัฐบาลนี้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี เริ่มแต่รัฐบาล คสช. หลายคนยังเป็นนายกฯและรัฐมนตรีตำแหน่งเดิมๆ

พฤติกรรมและผลงานในอดีต เป็นดัชนีชี้วัดการกระทำในปัจจุบันและอนาคต รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติคุณสมบัติของ ส.ส. รวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไว้ ส่วนใหญ่เป็นผลของการกระทำในอดีต เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ต้องไม่เคยถูกสั่งออกจากราชการ ไม่เคยถูกยึดทรัพย์ ไม่เคยทุจริตการเลือกตั้ง ไม่เคยถูกจำคุกในคดีการทุจริต

...

ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นผลของการกระทำในอดีต เช่นเดียวกับรัฐมนตรีบางคน ในรัฐบาลปัจจุบัน ถูกคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการกระทำเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ซ้ำยังเป็นการกระทำในออสเตรเลีย ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นการตรวจสอบอย่างเข้มข้น

แต่เชื่อว่าฝ่ายค้านคงจะไม่ตรวจสอบ เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร อาจจะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้ว คสช.ได้ใช้อำนาจที่ได้มาสร้างความชอบธรรมให้แก่การเข้าสู่อำนาจ ด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งนานาสภา.