ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้อง “ล่ม” ติดต่อกันสองวัน จากการแผลงฤทธิ์ของญัตติชื่อยาวเหยียดให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตาม ม.44

การล่มของสภาทั้งสองครั้ง เกิดจากการเดินออกจากที่ประชุม หรือการไม่เข้าร่วมประชุมของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน หลังจากที่ชนะรัฐบาลด้วยคะแนนเฉียดฉิว ให้ตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษา แต่ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นเสนอให้นับคะแนนใหม่ในทันที ส.ส.ฝ่ายค้านจึงเดินออกจากที่ประชุม และวันต่อมาก็มีเรื่องแบบเดียวกัน

คำกล่าวที่ว่า “ขอนับคะแนนใหม่” อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียทีเดียว เพราะความจริงน่าจะเป็น “ลงมติใหม่” แม้จะทำได้ตามข้อบังคับการประชุม แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่ควรใช้ในรัฐบาลปริ่มน้ำ เพราะจะกลายเป็นว่าถ้ารัฐบาลแพ้มติ จะให้ออกเสียงใหม่ทุกครั้ง และมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเพราะรัฐบาลปริ่มน้ำจริง

แต่บางฝ่ายชี้ว่าการที่รัฐบาลแพ้มติ จะโทษฝ่ายค้านฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านต้องลงมติให้ญัตติของตนอยู่แล้ว แต่ต้องโทษฝ่ายรัฐบาลด้วย เพราะมีรายงานข่าวว่ามี ส.ส.รัฐบาลถึง 33 คน ไม่ยอมร่วมออกเสียง รวมทั้ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถ้า ส.ส.รัฐบาลทุกคนเข้าร่วมประชุมในวันต่อมา จนครบองค์ประชุม สภาก็จะไม่มีการล่ม

ปรากฏการณ์สภาล่มติดต่อกันสองวัน สะท้อนภาพการเมืองในหลายด้าน เป็นผลจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ก่อให้เกิดรัฐบาลผสมกว่าสิบพรรค แต่เสียงปริ่มน้ำ จึงมีการระหองระแหงกันเป็นธรรมดา ในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งยังสะท้อนแนวความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม

...

ฝ่ายที่ยึดแนวทางอำนาจนิยม ย่อมมองไม่เห็นผลกระทบจากบรรดาการกระทำและคำสั่งทั้งหลายของ คสช. ถือว่าเป็นเรื่องปกติของรัฐบาล คณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการห้ามแสดงความคิดเห็น หรือการห้ามชุมนุม ผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษ ส่วนผู้ที่ยึดแนวทางเสรีนิยม มองว่าสวนทางประชาธิปไตย

มีกระแสข่าวระบุว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาล ยืนกรานว่าเรื่องนี้ “แพ้ไม่ได้” หรือแพ้ไม่เป็น และมีการพูดในลักษณะต่อรอง ถ้าฝ่ายค้านอยากให้ญัตติศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องยอมให้ลงมติใหม่ในญัตติศึกษาคำสั่ง คสช. ประธานวิปฝ่ายค้านถึงกับร้องลั่น อย่าเอารัฐธรรมนูญเป็นตัวประกัน แต่รัฐบาลน่าจะแพ้ไม่ได้.