จากพาดหัวข่าวในวันแรก หลายฝ่ายอาจจะตื่นตระหนก กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศตัดสิทธิพิเศษสินค้านำเข้าจากไทยถึง 573 รายการ มูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาท แต่เมื่อดูรายละเอียดจะพบว่า เป็นการตัดจีเอสพีบางส่วน ผู้ส่งออกไทยจะต้องเสียภาษีไม่มากนัก และมีเวลาต่อรอง 6 เดือน
นายกรัฐมนตรีบอกคนไทยอย่าตกใจ อย่าเดาเลยเถิดจนกระทบความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นายกฯเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาเร่งด่วน ได้ข้อสรุปว่าไทยยังสามารถส่งสินค้าไปขายสหรัฐฯได้ แต่ต้องเสียภาษีบางรายการ เป็นจำนวนเงินไม่มากจนน่าตกใจ เพราะสินค้าไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้จีเอสพีมาตั้งแต่ปี 2557
แต่ก็ยังส่งไปขายในสหรัฐฯได้ เพราะมีความสามารถในการแข่งขันพอ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า อาหารทะเลกลุ่มหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ ทูน่า กุ้ง และอีกหลายตัว ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้จีเอสพีอยู่แล้ว สมาคมเกี่ยวกับการประมงต่างยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบ
คอลัมนิสต์ชื่อดังของไทยคือ “ซูม” เขียนไว้ในคอลัมน์ “เหะหะพาที” โดยอ้างความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง เชื่อว่า ผู้ผลิตสินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขัน โดยไม่ต้องพึ่งพาจีเอสพี ตัวอย่างเช่น ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป หรืออียู มูลค่า 23,319 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเป็น 28,383 ล้านในปี 2561
เป็นฝีมือและคุณภาพสินค้าไทยโดยแท้ ต้องเสียภาษีตามปกติไม่มีสิทธิ พิเศษใดๆ ส่วนสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯตัดจีเอสพีไทย ที่หลายฝ่ายฟันธงว่าเป็นการตอบโต้ไทย ที่สั่งแบนสารเคมีอันตราย อาจจะเป็นแค่ส่วนเล็กน้อย ข้อมูลของกระทรวงแรงงานไทยระบุว่า สหรัฐฯเรียกร้องเรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ปี 2556
...
มีการเจรจาต่อรองกับฝ่ายไทยมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สหรัฐฯต้องการมี 7 อย่าง เช่น ให้แก้ไขนิยาม “การกระทำที่ไม่เป็นธรรม” ให้แรงงานต่างชาติรวมตัวตั้งสหภาพแรงงาน และกล่าวหาว่าไทยละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง การนัดหยุดงาน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
ข้อกล่าวหาหลายอย่างอาจเป็นความจริง เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในยุครัฐบาล คสช. แม้แต่คนไทยก็โดนโดยถ้วนหน้า แต่การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสู้นานาชาติได้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและน่าภูมิใจมากที่สุด.