ความหวังที่จะมีการร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เป็นไปได้ยาก จนถึงเป็นไปไม่ได้เลย และอาจส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากอยู่แล้ว ยากยิ่งขึ้นจนถึงยากที่สุด เมื่อนักข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าฝ่ายค้านต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถือธงนำ ได้รับคำตอบว่า “ผมไม่มีธง”

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกฎหมายตามขั้นตอนและรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรีย้อนถามว่าประชาชนกลุ่มไหน หรือพรรคการเมืองไหน ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีเสียงขานรับทันทีจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์ ของพรรคพลังประชารัฐด้วย กล่าวว่า ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ นายก รัฐมนตรีก็ไม่ต้องผูกมัดให้เป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ หัวหอกคนสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความชื่นชมต่อการตื่นตัวของคนไทยและต้องการมีส่วนร่วม

แต่ ส.ส.นครศรีธรรมราช เตือนพรรคการเมืองและองค์การภาคประชาชน ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ ไม่อยากให้หวังผลทางการเมืองอย่างเดียว ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อผลประโยชน์ของฝ่ายใด จนก่อให้เกิดการต่อต้านรุนแรง ควรเคารพในความเห็นต่างของทุกฝ่าย และหันหน้าเข้าหากัน ถกเถียงกันด้วยเหตุผล

การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีทางสำเร็จ ถ้าไม่มีการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น จาก ส.ส.ทุกพรรคที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะต้องร่วมกันรณรงค์สร้างประชามติให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วย มิฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง ที่พรรคและนักการเมืองพูดกันเท่ๆ แต่ทำได้อย่างมากคือตั้งคณะกรรมการศึกษา

...

ไม่ควรเสียเวลาในการศึกษาให้มากเกินไป ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับแล้ว มีคณะกรรมการศึกษามาแล้วไม่รู้กี่คณะ ถ้าต้องเริ่มต้นศึกษากันใหม่ อาจต้องใช้เวลาหลายปี ในที่สุด บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็จะสิ้นไป โดยเฉพาะประเด็นการให้ คสช.แต่งตั้ง 250 ส.ว.มีสิทธิ์เลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย

เป็นไปไม่ได้ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบถึงอำนาจหรือผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อใคร แม้แต่แกนนำของพรรครัฐบาลก็ยอมรับว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องกระทบอำนาจและผลประโยชน์พรรคแกนนำรัฐบาลแน่ เว้นแต่จะแก้ไขแค่เป็นพิธีกรรม.