ผมไม่แน่ใจว่ามาถึงวันที่ต้นฉบับของผมลงตีพิมพ์ การลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” จะครบ 10 ล้านคนตามเป้าหมายแล้วหรือยัง เพราะขณะที่เขียนเมื่อวันพุธมีข่าวว่าได้ไป 9 ล้านคนแล้วล่ะ
ทำสถิติครบ 1 ล้านคนในแต่ละวันด้วยเวลาที่รวดเร็วเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะวันแรกถึงขนาดเว็บล่มไปเลยทีเดียว
ทั้งรัฐบาลและกระทรวงการคลังเจ้าของโครงการดูเหมือนจะปลื้มใจไปตามๆ กัน ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนแบบถล่มทลายเช่นนี้ ถึงขนาดพูดกันว่าอาจจะมีเฟส 2
ผมเองแม้จะทราบดีว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเป็นยารักษาโรคเศรษฐกิจตกตํ่าที่สำคัญขนานหนึ่งและเห็นด้วยอย่างยิ่งกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล
แต่ผมไม่ค่อยชอบวิธีการกระตุ้นของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังๆที่ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการแจกเงินให้ประชาชนไปจับจ่ายกันตรงๆ
เพราะวิธีนี้จะมีผลเสียทางด้านสังคมตามมา เช่นจะทำให้ประชาชนรอคอยจะรับแจกท่าเดียว ไม่ขยันไม่กระตือรือร้น เพราะไม่ต้องทำอะไรรัฐบาลก็เอาเงินมาแจก
คนชาติไหนก็ตามที่ชอบรับแจกและขาดความกระตือรือร้น ก็จะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่หย่อนประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันจะลดน้อยลง
ผมจึงชอบวิธีแบบโบราณมากกว่า คือ รัฐจะคิดโครงการขึ้นมาก่อน เช่น สร้างถนนบ้าง ขุดสระบ้าง แล้วก็จ้างประชาชนไปทำงานเพื่อให้ได้เงินไปใช้จ่าย
จะทำให้ประเทศชาติได้กำไร 2 ต่อ คือ 1 กระตุ้นเศรษฐกิจได้ในประการแรก แล้วก็ยังเหลือถนนหนทาง หรือบ่อนํ้าไว้ใช้ในภายหลัง
หรือแม้แต่ยุคหนึ่งมีผู้เสนอแผลงๆว่าเพื่อให้เงินหมุนเร็วขึ้น เราจะใช้วิธีจ้างให้คนกลุ่มแรกไปขุดบ่อ เสร็จแล้วก็จ้างกลุ่มสองไปถมบ่อ เพราะจริงๆ เราไม่อยากได้บ่ออะไรหรอก อยากให้เกิดการหมุนเวียนของเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้นเอง
...
วิธีนี้ก็ยังดีกว่าเอาไปแจกเฉยๆ เพราะอย่างน้อยก็ยังให้คนได้ทำงานต้องออกแรง ต้องไปขุดไปเจาะหรือไปถมบ่อถึงจะได้เงิน
แต่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังๆมักจะใจร้อนไม่ใช่เฉพาะบ้านเราหรอก ที่อเมริกาผมก็เคยอ่านข่าวเจอว่าสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกตรงแก่ประชาชนเหมือนกันผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าและความจริงก็ตกรุ่นไปเรียบร้อย จึงไม่ค่อยชอบวิธีอย่างที่ใช้กันอยู่นี้ แต่ก็คงไม่ค้านอะไรมากหรอก
เพราะตระหนักดีว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปข้อมูลก็เปลี่ยนไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ทฤษฎีที่คนรุ่นเก่าเคยใช้อาจจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้
ผมจึงไม่คัดค้านโครงการนี้ อย่างเก่งก็แค่เขียนเตือนสติให้ระวังผลเสียทางด้านสังคม ที่จะทำให้ผู้คนเฉื่อยชา รอแต่รับแจกขาดความกระตือรือร้น เอาไว้บ้างเท่านั้นเอง
หรืออีกอย่างก็แค่เตือน กระทรวงการคลัง ว่าอย่าออกหน้าออกตารับบทเป็นผู้แจกเต็มตัว หรือสนุกกับการแจกจนเกินไป
เพราะจะทำให้คนที่ไม่ได้รับแจก และยังต้องเสียภาษีตามปกติเขาจะรู้สึกโกรธ พวกกรมเก็บภาษี ซึ่งก็อยู่ในสังกัดกระทรวงการคลังนั่นแหละ ว่าถอนขนห่านเก็บเงินฉันไปแล้วก็เอาไปแจกยังกับงานเทกระจาด
เขาจะไม่อยากเสียภาษีให้กระทรวงการคลังซะเท่านั้น หรือไม่ก็เสียไปบ่นไปอย่างที่เกิดขึ้นบ้างแล้วในปัจจุบัน
อีกอย่างหนึ่งได้ยินจากข่าวของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่เหมือนกันจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยละมัง เขาบอกว่าโครงการ “ชิมช้อปใช้” จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงร้อยละ 0.02 เท่านั้น
จะคุ้มหรือไม่? อย่างไร? หากจะมีผลเสียในเชิงลบ ทั้ง 2 ประการเกิดขึ้นอย่างที่คนแก่อย่างผมเป็นห่วง
ที่สำคัญที่สุดผมหวังว่า นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลและภาคราชการคงจะรู้ดีแล้วว่า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในปีนี้คืออะไร? และจะมีผลกระทบอะไรมาถึงเราบ้าง?
การเตรียมตัวแก้ปัญหาหลักๆเหล่านี้จะต้องมีอยู่ด้วยนะครับ...อย่ามัวสนุกและปลื้มอยู่กับตัวเลขคนแย่งกันลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” ซะจนลืมแก่นปัญหาที่แท้จริงก็แล้วกัน
“ซูม”