การประชุมรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แม้มีการใช้เหลี่ยมคูข้อบังคับชิงไหวชิงพริบ สลับประท้วงเป็นระยะ ตามธรรมชาติการประชุมสภาในระบอบประชาธิปไตย แต่สุดท้าย ส.ส.และ ส.ว.เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ก็ต้องมีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในระบบเลือกตั้ง ตามฟอร์ม
แต่ในห้วงก่อนเริ่มประชุมรัฐสภา มีปรากฏการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้น เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงข่าว ขอโทษประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งระบุเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้
โดยระบุว่า ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ในฐานะหัวหน้าพรรคได้ยืนยันกับคนไทยทั้งประเทศว่าไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคไม่ประสบความสำเร็จ จึงแสดงความรับ ผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค
แม้เลือกตั้งผ่านพ้นมายังยืนยันจุดยืนเดิม เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และจะเข้าร่วมรัฐบาล ด้วยความเคารพมติของพรรค แต่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เมื่อความพยายามของตนเองไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องมีการตัดสินใจในทางการเมือง
ประการแรก คือขอโทษพี่น้องประชาชนที่ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ โดยเข้าใจว่าพรรคจะรักษาจุดยืนคำพูดและอุดมการณ์ ประการที่สอง การทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คงไม่สามารถเข้าไปลงคะแนนโดยฝ่าฝืนมติพรรคได้ เพราะทราบดีว่านักการเมืองต้องมีวินัย
แต่จะให้เดินเข้าไปออกเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน ดังนั้นเหลือทางเลือกทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญ“สัจจังเว อมตะ วาจา” จึงต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน
ก่อนสรุปตบท้ายว่า มหาตมะ คานธี เคยส่งจดหมายถึงหลานพูดถึงบาป 7 ประการ หนึ่งในนั้นคือการเมืองปราศจากหลักการ ดังนั้นจึงไม่สามารถทำบาปนั้นได้ จำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป งานนี้อาจมีคนมองเป็นแค่การอ้างเหตุผลเพื่อให้ดูดี แต่ต้องยอมรับนี่คือการแสดงสปิริตที่หาได้ยากยิ่งในยุคนี้.