วันนี้ 5 มิถุนายน ดีเดย์สำคัญทางการเมือง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 499 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จากคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติ เปิดทางให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ

เมื่อดูจากจำนวนเสียง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง บวกด้วย ส.ส. ของแนวร่วมอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคขนาดจิ๋วอีก 10 พรรค มี ส.ส.รวมกัน 150 คน ลำพังเสียง ส.ส.ไม่มีทางที่จะผลักดันใครขึ้นเป็นนายกฯได้

แต่เมื่อบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการเลือกจิ้มของ คสช. มีเอี่ยวในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ทำให้สมการตัวเลขมีความชัดเจน 150 ส.ส. บวก 250 ส.ว. รวม 400 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง เป็นเกณฑ์ตัดสินบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อได้เป็นนายกฯ

นั่นก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ถือแต้มต่อที่จะชนะโหวตในรัฐสภา ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีในระบบเลือกตั้งใสๆอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องง้อเสียงหนุนจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่จ้องใช้สถานการณ์โหวตเลือกนายกฯมาเป็นเกมต่อรอง

โดยเฉพาะพุ่งปมไปที่การจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ เพื่อแลกกับการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ อย่างที่เป็นกระแสข่าวครึกโครม พรรคภูมิใจไทยจองเก้าอี้ รมว.คมนาคม สาธารณสุข การท่องเที่ยวและกีฬา พรรคประชาธิปัตย์ ขอนั่งคุมกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

แต่ขณะเดียวกัน แกนนำ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยังยื้อการแบ่งโควตากระทรวงเอาไว้สุดฤทธิ์ เพราะไม่ต้องการให้พรรคตัวแปรคว้าชิ้นปลามันกระทรวงเกรดเอไปครองทั้งหมด ไม่เช่นนั้นแกนนำ ส.ส.พลังประชารัฐจะได้กินแต่ก้าง โดยเฉพาะกระทรวงยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจที่ต้องรองรับการเดินนโยบายพรรค

...

เพราะเหตุนี้ทำให้เห็นอาการแข็งขืนจากพรรคพลังประชารัฐดึงเรื่องการจัดโควตารัฐมนตรีให้ไปว่ากันหลังเลือกนายกฯ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยื้อเรื่องการร่วมรัฐบาลเต็มที่ แถมยกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างในการตัดสินใจให้ดูดีมีหลักการ แต่ในมุมการเมืองใครก็มองออกว่าเป็นแค่เกมต่อรองตำแหน่งเท่านั้นเอง.