สัปดาห์ที่แล้ว สถาบันไอเอ็มดี ในสวิตฯ ประกาศผลการจัดอันดับ ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันดีที่สุดในโลก IMD World Competitiveness Rankings 2019 ปรากฏว่า สิงคโปร์คว้าแชมป์ไปครองอีกแล้ว โดยขยับขึ้นมาสองอันดับแซงหน้า สหรัฐฯ แชมป์เก่าขึ้นไปครอง อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ สหรัฐฯ ร่วงไปสองอันดับอยู่ อันดับ 3 และ ฮ่องกงครองอันดับ 2 ของโลกเท่าปีที่แล้ว ที่น่าดีใจก็คือ ประเทศไทยขยับขึ้นมา 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 สูงสุดในรอบ 15 ปีเลยทีเดียว
ก็ต้องยกให้เป็นผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ และ ทีมเศรษฐกิจ ที่ช่วยกันแก้ไขกฎหมาย ทำให้การทำธุรกิจในเมืองไทยง่ายขึ้น
การจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขัน ไอเอ็มดีใช้ดัชนีชี้วัดถึง 253 ตัว เช่น สถิติการจ้างงาน จีดีพี การลงทุนภาครัฐในด้านสุขภาพและการศึกษา ไปจนถึงซอฟต์ดาต้า เช่น การสำรวจความคิดเห็น
ผู้บริหารในภาคธุรกิจ การทุจริตคอร์รัปชัน ข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาแบ่งออกเป็น 4 หมวดคือ ผลงานด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานประสิทธิภาพของภาครัฐ และ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ
ดร.สมคิด รองนายกฯ เปิดเผยว่า ส่วนที่ไทยทำได้ดีขึ้นคือประสิทธิภาพภาครัฐ เพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะ กฎหมายธุรกิจ ที่ทำให้การทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น ดีขึ้นมา 4 อันดับจากอันดับที่ 36 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 32 แต่ประสิทธิภาพธุรกิจกลับลดลงจากอันดับที่ 40 ไปอยู่อันดับที่ 43 และ ด้านทัศนคติของภาคธุรกิจในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีลดลงจากอันดับ 17 ลงมาอยู่อันดับ 26 ร่วงไปถึง 9 อันดับ
คุณสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย ยอมรับว่า ประสิทธิภาพทางธุรกิจของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม โดยเฉพาะเรื่อง “คุณภาพคน” หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า ระบบการศึกษาไทยไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทั้ง ระบบหลักสูตร ระบบความคิดที่มีแต่การท่องจำ และครูไทยที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ปัจจุบันภาคธุรกิจมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามามาก แต่แรงงานไทยยังไม่สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้ได้มาก
...
(ทั้งที่ ประเทศไทยมีกระทรวงการศึกษาถึง 2 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัยฯ ที่เพิ่งตั้งใหม่ ถ้าการศึกษาไทยยังล้มเหลวต่อไปอีก อาจจะต้องตั้ง กระทรวงการศึกษากระทรวงที่ 3 กระทรวงที่ 4 เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้น ไม่รู้จะขำหรือสงสารประเทศไทยดีที่มีรัฐบาลคิดได้อย่างนี้???)
วันนี้ แรงงานเพื่อนบ้านไทย ไม่ว่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ต่างทิ้งห่างแรงงานไทยไปไกลแล้ว วันก่อนเพื่อนฝูงที่ไปธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านมาเล่าให้ฟังว่า มีเพื่อนชาวลาวถามว่า ทำไมคนไทยจึงพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ขณะที่ แรงงานลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม พูดภาษาอังกฤษกันปร๋อ
ผมฟังแล้วก็คิดในใจ อย่าไปว่าแรงงานไทยเลย แม้แต่ ครู ส.ส. ข้าราชการ รัฐมนตรีไทย ก็พูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยเป็น ขนาดป้ายโฆษณา ถ้า มีภาษาอังกฤษปนอยู่ด้วย ยังต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะรัฐบาลไทยถือว่า ภาษาอังกฤษ เป็น ภาษาต่างด้าว ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ จึงต้องเสียภาษีแพงกว่า ป้ายโฆษณาที่มีแต่ภาษาไทย
เมื่อ รัฐบาลไทยรังเกียจภาษาอังกฤษขนาดนี้ เราจะเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร การค้าขายแบบ E–Commerce ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็ค้าขายไม่ได้ แต่ รัฐบาลเวียดนาม เขาเปิดโรงเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ สอนภาษาอังกฤษประชาชนฟรี ใครสามารถ พูดภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ได้เงินเดือนเพิ่มพิเศษ แต่ประเทศไทยกลับตรงกันข้าม แค่ป้ายมีภาษาอังกฤษ ยังต้องเสียภาษีเพิ่ม ถ้าเป็นป้ายภาษาอังกฤษล้วน เสียภาษีแพงที่สุด แล้วเราจะพัฒนาประเทศรับ โลกาภิวัตน์ และ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องใช้ ภาษาอังกฤษ ได้อย่างไร.
“ลม เปลี่ยนทิศ”