(ภาพประกอบ)


อาหารอร่อยนับเมนูไม่ถ้วน ในงานหมั้นคุณจูเนียร์ ที่โรงแรมดุสิตธานี ผ่านมานาน ผมยังติดใจ “หมูย่างโรงแรมมารวย” ไม่หาย

เมื่อ “น้องแนน” ที่นั่งใกล้ๆ เล่าให้ฟัง เพื่อนเจ้าของร้านหมูย่างโรงแรมมารวย ตัวจริง มาปรับทุกข์ว่า หมูย่างมารวย เกิดไปมีสาขาที่อื่น ผมถามไถ่พอได้ความ เป็นเรื่องของพี่ๆน้องๆ

จึงแนะนำ การมีหลายสาขาเป็นเรื่องดี เหมือนช่วยกันโฆษณา

ผมยกตัวอย่าง “โกฮับ” ก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่ขายในห้องแถวไม้ แถวรังสิต เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว

ใครนั่งรถผ่าน ก็จะเห็นตัวหนังสือใหญ่ โกฮับ เจ้าเก่า โกฮับตายแล้ว โกเหลียง หลานโกฮับ

ป้ายเหล่านั้น เรียกความสนใจ ให้อารมณ์ขัน ชื่อโกฮับกลายเป็นชื่อขายดี มีอานิสงส์เผื่อแผ่ไปช่วยให้ก๋วยเตี๋ยวเรือย่านนั้น ขายดีไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ ยังมีขายอยู่ในเซ็นทรัลลาดพร้าว

อีกตัวอย่าง ที่แม่กลอง...ร้านตุ๊กเมื่อสักสามสิบปีที่แล้ว แกงส้มปูไข่ รสชาติเลื่องลือไปหลายคุ้งน้ำ ต่อมาตุ๊กมีปัญหาปิดร้าน พี่ๆน้องๆก็เปิดร้านตุ๊ก ขายต่อๆไป จากตุ๊ก 1 ก็มีตุ๊ก 2

เมื่อ “ตุ๊ก” ตัวจริง โสภา เสือสมิง (ขอโทษ ผมจำได้แต่นามสกุลก่อนแต่งงาน) ก็มาเปิดร้าน กลายเป็นตุ๊ก 3

ผมก็เห็นว่า ทั้งสามร้านตุ๊ก ซึ่งรสมือไม่แพ้กัน ขายดีเหมือนกัน ใครเป็นแฟนใครก็ตามไปกินตุ๊กนั้น ผมเองเป็นเพื่อนกับตุ๊กโสภา มาตั้งแต่ยังรุ่น ยังเคยลัดเลาะถามทีละร้านๆ เป็นนาน...กว่าจะได้กินฝีมือร้านเพื่อน

ในแง่จิตวิทยาชื่อร้าน “ตุ๊ก” ก็เป็นเช่นเดียวกับชื่อ “โกฮับ”ช่วยยกระดับความสนใจ ช่วยให้ขายดี

ในหนังสือหรรษาอาเซียน (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2557) ธีรภาพ โลหิตกุล เขียนเรื่องแกงมัสมั่น ว่า ของไทยได้ครองอันดับ 1 จากการโหวตผ่านเฟซบุ๊กโพล โดยซีเอ็นเอ็นโก ให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดของมนุษยชาติ

...

ความหวาน ความหอม ความมันจากกะทิ เผ็ดร้อนนิดๆจากเครื่องเทศ เป็นรสชาติที่กลมกล่อมลงตัวอย่างมีเอกลักษณ์ จนได้สมญา เป็นราชาแห่งอาหาร

ธีรภาพ ยกข้อเขียน เรื่อง ตามรอยสำรับแขกคลองบางหลวง คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต ซึ่งเขียนไว้ว่า

แม้ปัจจุบันมัสมั่นถือเป็นแกงพื้นๆ มีขายตามร้านอาหารทั่วไป ทว่าสำหรับพี่น้องชาวมุสลิมแล้ว มัสมั่นถือเป็นอาหารพิเศษ โดยเฉพาะในงานบุญ

บ้านไหนจัดงานบุญ อาหารหลักในสำรับ หนีไม่พ้นมัสมั่น

คำว่า “มัสมั่น” น่าจะมาจากคำ “มุสลิมาน” ภาษาเปอร์เซีย อันเป็นพหูพจน์ของคำว่ามุสลิม ที่ใช้เรียกผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม

ต้นตำรับมัสมั่น จึงมาจากเปอร์เซีย แต่ชาวสยามมาปรุงแต่งรสชาติใหม่ให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับ ข้าวหมกไก่ ขนมลุดตี่ หรุ่ม มัศกอด ฯลฯ สะท้อนว่าเป็นอาหารอีกหนึ่งในวัฒนธรรมหลายที่คนไทยและชาวอาเซียนรับอิทธิพลจากอารยธรรมอื่นๆที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน

แล้วนำมาประยุกต์ดัดแปลงให้คุ้นลิ้นเราเอง

ตัวอย่างชื่อแกงมัสมั่น ที่ไทยเคยได้อันดับหนึ่ง ถ้าผมจำไม่ผิด ไม่กี่ปีต่อมา อินเดียเขาก็แกงมัสมั่น ชิงได้อันดับที่หนึ่ง ชื่อเหมือนกัน แม้รสชาติความเข้มข้นและกลิ่นจะต่างกัน

จึงน่าเชื่อว่า แกงมัสมั่นที่มีในหลายๆชาติ จะยิ่งได้รับความสนใจ ขายดียิ่งขึ้น

ประเด็นชื่อแกงมัสมั่น ชื่อหมูย่างมารวย ชื่อร้านตุ๊ก ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาแย่งกัน ของฉัน ของเธอ จะขายดีแค่ไหน ตัดสินกันด้วยฝีมือ

นี่ว่ากันด้วยหลักสันติ เพื่อความสงบสุขแบบไทยๆ แบบที่สอนกันว่ากินขี้หมาดีกว่าค้าความนะครับ แต่ถ้าใช้หลักการค้า “แบรนด์” หรือ “ยี่ห้อ” กฎหมายเขามี ใครอื่นเอาของเขาไปใช้ ก็ต้องเจอข้อหาละเมิด.

กิเลน ประลองเชิง