การเจรจาต่อรองระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่กลายเป็นปัญหายืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ พอจับความได้ว่านอกจากจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ปชป.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แกนนำทั้งสองฝ่ายยอมรับ นายกรัฐมนตรีก็รับรู้ แต่บอกว่าต้องแยกประเด็นจากการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเปิดเผยต่อประชาชน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง คราวนี้ก็บอกแต่ว่าแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย แสดงว่าอาจเสนอให้เลิกล้มระบบการแต่งตั้ง ส.ว.ให้มีสิทธิร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีอำนาจลงมติร่วมกับ ส.ส. ในร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศ
แต่หัวหน้า คสช. และ ส.ว.จะยอมให้แก้ไขหรือ? ในประเด็นที่เป็นการสืบทอดอำนาจ และลดอำนาจ ส.ว. เพราะเท่ากับทุบ หม้อข้าวตนเอง ประเด็นเร่งด่วนและสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เป็นปัญหามากที่สุด และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่อ้างว่าทำให้ทุกคะแนนของพรรคเล็กมีค่า แต่คะแนนพรรคขนาดกลางตกน้ำนับล้าน
แต่ปัญหาที่น่าจะยากเย็นที่สุด คือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปิดประตูใส่กลอน และล็อกกุญแจอย่างแน่นหนาหลายชั้น เช่นการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของทั้งสองสภาคือ 375 เสียงขึ้นไป และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 ถ้ามี ส.ว.คัดค้านประมาณ 84 คน ร่างแก้ไขก็จะตกไป
ส่วนการลงคะแนนในวาระสุดท้าย ต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของทั้งสองสภา แต่มีเพิ่มเติมว่าต้องมี ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ให้ความเห็นชอบอย่างน้อย 20% เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. มากกว่า ส.ส. ในการวีโต้หรือยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ประมาณ 84 เสียงก็ยับยั้งได้ แต่ ส.ส. 2–3 ร้อยยับยั้งไม่ได้ ส.ว.จับมือ ส.ส.แค่ 126 เสียงอาจแก้รัฐธรรมนูญได้
...
บางคนเสนอว่าวิธีที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ จะต้อง “ปลดล็อก” ที่ปิดประตูไว้แน่นหนาเสียก่อน นั่นก็คือเริ่มต้นด้วยการแก้ไข “วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายแต่ทำยากอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขประเด็นนี้ จะต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนเป็นกระบวนการที่ยืดยาว และต้องใช้งบประมาณเกือบ 6 พันล้านบาท เท่ากับเลือกตั้ง ส.ส.
คนทั้งประเทศ หรือ 500 ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่สามารถวิงวอน ส.ว. ให้เห็นดีเห็นงามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่มีเพียงคนเดียวที่อาจทำได้ นั่นก็คือหัวหน้า คสช. ผู้แต่งตั้ง 250 ส.ว. มองอีกด้านหนึ่ง คนคนเดียวที่อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ ก็คือหัวหน้า คสช. เห็นหรือยังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครมีอำนาจสูงสุดทางการเมือง.
อ่านข่าวล่าสุด เจาะลึกข้อมูลเลือกตั้ง 2562
https://www.thairath.co.th/election