ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ตลกร้าย ที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยออกมา กกต.ยังไม่มีมติเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่กำลังถกเถียงกันในสังคมเวลานี้ คาดว่าจะชัดเจนในสัปดาห์นี้ โดยอ้างว่า สูตรคำนวณได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็ต้องมี ต้นแบบการคำนวณ กกต.จะรวบรวมทุกความเห็นและข้อโต้แย้ง รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีคำตอบกับสังคม กกต.ไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมายเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย

แสดงว่า กกต.จัดการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ทั้งที่ ไม่มีความพร้อม ไม่มีสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มี

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เลขาธิการ กกต. ยอมรับหน้าชื่นว่า ที่ผ่านมา กกต.ยังไม่ได้เริ่มคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเลย เรื่องจุดทศนิยม การปัดเศษต่างๆ จึงยังไม่ขอตอบสูตรคำนวณเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่นำมาเขียนเป็นกฎหมาย กกต.จึงต้องรับฟังความเห็นจาก กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า มีเจตนารมณ์ในการเขียนกฎหมายและการตีความกฎหมายนี้อย่างไร เมื่อ กกต.มีมติออกมาอาจจะเผยแพร่ชี้แจงกับประชาชน ถึงอย่างไรก็ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคม

ฟังแล้วก็ได้แต่อึ้งกิมกี่ ทำไม กกต.ไม่จัดทำ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง จะได้มีความโปร่งใส ไม่ใช่เพิ่งมารับฟังความเห็นเอาตอนนี้

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ให้ความเห็นว่า การเชิญ กรธ.มาอาจไม่ได้ชี้ขาดอะไร บอกได้แต่ว่าตอนยกร่างรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ส.ส. เขามุ่งหมายอะไร ตอนส่งไป สนช.ก็มีการปรับแก้เนื้อหาคงต้องเชิญกรรมาธิการชุดนี้มาด้วย หากมีปัญหาในอนาคต กกต.ก็ต้อง ตัดสิน ยกเว้นมีใครไปฟ้องศาลว่า กกต.วินิจฉัยผิด หากศาลวินิจฉัยว่า กกต.มีอำนาจ ก็จำหน่ายคดี ตนพูดมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า จะมีการร้องเรียนกันมากโดยเฉพาะการคิดสูตรเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในอดีตจะร้องเฉพาะคนที่แพ้ แต่ครั้งนี้คนชนะก็ร้องด้วย เหตุว่าคะแนนไม่ได้ตกน้ำ นำมาใช้หมด

...

ฟังแล้วก็ต้องบอกว่า ยุ่งตายชัก ทำให้ไม่แน่ใจว่า วันที่ 9 พฤษภาคม กกต.จะสามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ ตอนนี้ ดร.วิษณุ เปิดเผยว่า มีเรื่องร้องเรียน 200 กว่าเรื่องแล้ว มีมูลกว่า 100 เรื่อง ถ้า กกต.ประกาศผลไม่ทัน ย่อมมีผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน ต่อให้ประกาศทัน คดีที่ค้างคาที่มีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.แต่ละฝ่ายที่ก้ำกึ่งกัน

การจัดตั้งรัฐบาลยิ่งล่าช้า เศรษฐกิจก็ยิ่งได้รับผลกระทบ 6 เดือนแรกปีนี้ที่รอการเลือกตั้ง รอการจัดตั้งรัฐบาล ลืมไปได้เลย โตไปตามยถากรรม คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.7% จาก 4% ในกรอบ 3.20-3.90% จากแนวโน้มการส่งออกปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.2% จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5%

แต้ถ้า จัดตั้งรัฐบาลเสร็จในเดือนมิถุนายน มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 15.6 ล้านคน เพิ่มสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 14.5 ล้านคน หักลดหย่อนภาษี 10.3 ล้านคน ก็จะช่วยหนุนการบริโภคครัวเรือนได้ 0.2-0.4% ของจีดีพี แต่ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่าเดือนมิถุนายน หรือ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และ การส่งออกขยายตัวต่ำกว่า 2.5% ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้เพียง 3.2%

ฟังแล้วก็เศร้าใจ แทนที่การเลือกตั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กลับส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลลบต่อบรรยากาศการเมือง ส่งผลให้เกิดความแตกแยก เพราะความไม่พร้อมของ กกต.หน่วยงานเดียว การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีฝ่ายไหนได้เสียงข้างมากแบบชนะขาด คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกคะแนนจึงมีความหมาย ถ้า กกต.ยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ทำงานไปเรื่อยๆแบบนี้ บ้านเมืองไม่ปกติสุขแน่นอนครับ ผู้ที่จะเดือดร้อนที่สุดทั้งเศรษฐกิจและสังคม ก็คือ ประชาชนทุกคน ครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”