ไม่ว่าจะเป็นสารจากนายกรัฐมนตรี หรือคำกล่าวของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่บอกว่า “วันนี้พูดเยอะ พูดแรง” หรือความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญเป็นภาพสะท้อนถึงความคิดเห็นต่างในทางการเมือง เป็นปัญหาการเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่ต่างกัน เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานหลายปี

แม้อาจจะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน แต่ทุกฝ่ายก็ยอมรับในหลักการที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วม เช่นฉบับปัจจุบัน ความว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่อาจตีความรัฐธรรมนูญต่างกัน เช่นฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประชาธิปไตยและผ่านการลงประชามติ

แต่ฝ่ายอิสระนิยมอาจยอมรับว่า บทบัญญัติส่วนใหญ่ของรัฐธรรมนูญยึดหลักการประชาธิปไตย เช่นมาตรา 77 ระบุว่าก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นต้น แต่เห็นว่าบทเฉพาะกาล 5 ปี ที่ให้หัวหน้า คชส. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ขัดหลักการประชาธิปไตย เพราะ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะบังคับให้ทุกคนมีความเห็นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ตรงกับคำพระที่ว่า “นานาจิตตัง” สังคมประชาธิปไตยมีวัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งได้แก่ “ขันติธรรม” มีความอดทนในการรับฟังความคิดต่าง และยอมรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน ฯลฯ แม้จะต่างกัน

ผบ.ทบ.กล่าวว่า ในโลกนี้ล้วนแต่มีวัฒนธรรมระบอบประชาธิปไตยของตนเอง เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง ประชาธิปไตยหลายประเทศเป็นสาธารณรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา หลายประเทศเป็นราชอาณาจักร เป็น “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แบบเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ต่างมีสันติสุข

...

การปกครองระบอบประชาธิปไตย จะต้องเริ่มต้นด้วยการปลูกฝัง “ศรัทธา” เชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครอง ที่ทำให้ประเทศเป็นสังคมที่เป็นธรรม มีความเจริญมั่งคั่ง และมีสันติสุข ประชาธิปไตยต้องยึดมั่นในหลัก “สันติวิธี” เช่นบุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อร้องทุกข์ในเรื่องต่างๆ แต่จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ

ถ้าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและมีอาวุธ เช่นชุมนุมยึดสถานที่ราชการหรือยกพวกตีกัน รัฐธรรมนูญจะไม่คุ้มครอง ขณะนี้มีปัญหาตีความกฎหมายต่างกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐตีความว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ออกในยุค คสช. การชุมนุมต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่กฎหมายแค่ให้ “แจ้ง” เจ้าหน้าที่ล่วงหน้า ถ้าต้องขออนุญาตน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ.