รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นยุคที่ให้ความสำคัญการปฏิรูปประเทศมากที่สุด มีสภาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาและเสนอแนะการปฏิรูป ถึง 2 สภา ได้แก่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ระบุว่าจะต้องปฏิรูปประเทศใน 11 ด้าน รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม

รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560 มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่าจะต้องดำเนินการปฏิรูปในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ในด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจ และต้องใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย

รัฐธรรมนูญขีดเส้นให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายใน 1 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือวันที่ 6 เมษายน 2560 จนถึงขณะนี้ล่วงเลยมาจะครบ 2 ปี ในเดือนเมษายนหน้า แต่การปฏิรูปด้านต่างๆ ยังชะงักอยู่ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจมีคณะกรรมการมาแล้วหลายคณะ สุดท้าย ได้แก่คณะที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ.เป็นประธานกรรมการ

ในเวทีเสวนาเรื่อง “5 ปี กฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน ลุงตู่ซุกไว้ที่ไหน จะมีผลใช้บังคับเมื่อใด” จัดโดยเครือข่ายปฏิรูปตำรวจเมื่อเร็วๆนี้ นักวิชาการท่านหนึ่งเล่าว่า คณะกรรมการที่มีนายมีชัยเป็นประธาน ใช้เวลา 7 เดือน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนเสร็จเรียบร้อย แต่มีการเวียนร่างเพื่อรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการที่ร่วมการเสวนา ไม่เชื่อว่าจะพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ทันในสมัยนี้ บางคนฟันธงว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถปฏิรูปตำรวจได้แน่ เพราะมีกลุ่มคัดค้านการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโครงสร้างตำรวจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับอำนาจ นักการเมืองและนักธุรกิจ จึงเอาร่างกฎหมายซุกไว้ ผู้มีอำนาจก็ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เราจะทำอย่างไร

...

นักวิชาการเห็นว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 2 รองจากการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน ถ้าเราไม่ปฏิรูปตำรวจ ความเป็นธรรมจะไม่เกิด รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย เพราะตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่อาจอยู่ตรงข้ามกับสิทธิมนุษยชน จึงต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมตำรวจให้มีจิตสำนึกในการอำนวยความยุติธรรมประชาชน

น่าแปลกใจ ขณะที่รัฐบาลกับ สนช.เร่งออกและประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ ที่ถูกมองว่าเป็นกฎหมายอันตราย เป็นอำนาจนิยม ปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่กลับมีการดองกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ไม่มีใครรู้ว่าจะดองไว้อีกกี่ปี ส่วนประชาชนต้องทนอยู่ในสังคมที่ไม่ยุติธรรม รัฐธรรมนูญไร้ความหมาย.