เคยได้ยินนักการตลาดพูดว่า “ไม่ว่าสินค้าดีแค่ไหน แต่ตอนที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ วินาทีนั้นใช้อารมณ์ล้วนๆ ต่อให้สินค้าไม่ดีก็ขายออก ถ้าสามารถทำให้ลูกค้ามีอารมณ์อยากได้เป็นเจ้าของ” ผมลองคิดตามดูก็พบว่ามีหลายครั้งที่ตัวเองเป็นเช่นนั้นจริงๆแล้วก็พลอยคิดเล่นๆต่อไปอีกว่า เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม วินาทีที่กาบัตรลงคะแนน คนส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ความรู้สึกหรือใช้เหตุผลมากกว่ากัน?
การเมืองต่างกับกฎหมาย บ่อยครั้งที่การเมืองไม่ใช่ตัดสินด้วยถูกหรือผิด แต่ตัดสินใจด้วยชอบหรือชัง
ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะมาปัจจัยอะไร วันนี้ผมขอฝากกรอบแนวคิด “วัฒนธรรมสร้างชาติ” เพื่อใช้ในการออกแบบพัฒนาประเทศ เพราะเท่าที่ดูนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่เห็นมีแต่เสนอว่าจะทำโน่นทำนี่จัดให้สารพัด แต่ไม่มีพรรคไหนนำเสนอว่าจะใช้วัฒนธรรมเป็นหลักในการพัฒนาบ้านเมือง
ใน นิตยสาร Life and Home ได้ลงบทสัมภาษณ์พิเศษ คุณสิงห์ชัย ทุ่งทอง กรรมการสภาสถาปนิก และเป็นอดีต ส.ว.อุทัยธานี (ซึ่งไม่ได้โดดมาลงสนามเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การใช้วัฒนธรรมสร้างชาติ เพื่อกระตุกให้สังคมไทยได้ฉุกคิดก่อนจะพัฒนาประเทศไปผิดทิศผิดทาง
คุณสิงห์ชัยบอกว่า หลายครั้งเมื่อนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศตามวาระการเลือกตั้ง ต่างก็พยายามคิดใหม่ทำใหม่เพื่อขับเคลื่อน หวังพัฒนาประเทศให้ทันกระแสโลก จนลืมให้ความสำคัญกับบริบทหรือวิถีของสังคมไทย ซึ่งมีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์โดดเด่นต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ความมีชีวิตชีวาของคนไทยที่สอดรับกับความงามจากธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมไทยหาไม่ได้ในชนชาติอื่นทั่วโลก
การออกแบบประเทศโดยไม่มองสิ่งดีๆ ที่มีอยู่เดิม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งในส่วนของงบประมาณ การพัฒนาทางกายภาพ สภาพแวดล้อม ความขัดแย้ง รวมถึงสูญเสียประโยชน์สูงสุดที่ประเทศพึงจะได้รับ
...
จากประสบการณ์เดินทางไปทั่วโลก สถานที่ที่ใครบอกว่าสวย หรือเป็นสุดยอดของชายหาด เป็นเมืองที่สวยงาม มีอัตลักษณ์นั้น ยอมรับว่าสวยจริง แต่คนของเขาไม่มีชีวิตชีวาเหมือนคนไทย คนไทยมีสุนทรียะครบถ้วน รัก โกรธ หลง สนุกเฮฮา มีโลกส่วนตัว แล้วทำไมไม่พัฒนาประเทศภายใต้สิ่งที่เรามีอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงความคิด ความคุ้นชิน เพราะเรานำวัฒนธรรม วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนา
วันนี้หากจะพัฒนาประเทศไทยอย่างมั่นคงยั่งยืน อยากให้คนที่ออกแบบประเทศมองสิ่งที่มีอยู่เดิมก่อน คำว่า “วัฒนธรรมสร้างชาติ วัฒนธรรมสร้างไทย” ตรงนี้รวมถึงการจัดวางโซนนิ่งประเทศด้วย เช่นไม่เอานิคมอุตสาหกรรมไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แหล่งต้นน้ำป่าเขา ก่อนคิดทำอะไรต้องมองบริบทรอบๆ พื้นที่ คำนึงถึงศิลปะ ประเพณี วิถีชีวิต สอดรับกับสภาพแวดล้อม ถ้าคิดอย่างนี้จะไม่หลุดกรอบ
หากประเทศไทยหารายได้จาก การเกษตร เป็นอันดับหนึ่ง การท่องเที่ยว อันดับสอง การบริการ อันดับสาม วัฒนธรรม ก็คืออันดับสี่ พัฒนาแค่ 4 อย่างนี้พอแล้ว ต่อให้มนุษย์มีเทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน ถึงที่สุดแล้วก็ต้องมาเที่ยว กิน ชิม ช็อป มันไม่หนีไลฟ์สไตล์เหล่านี้หรอก วัฒนธรรมไทยสุดยอดที่สุด เราไม่จำเป็นต้องออกแบบเชียงใหม่ให้เหมือนภูเก็ต ที่มันเละเทะเพราะคนออกแบบประเทศไม่เข้าใจ ไปเลียนแบบตะวันตก มุ่งพัฒนาจนลืมหันกลับมามองสิ่งดีที่เรามีอยู่ ฉะนั้นต้องออกแบบประเทศในกรอบคำว่าวัฒนธรรมสร้างชาติ
แม้กระทั่ง การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 14 ปี ใส่เงินงบประมาณ เพิ่มกำลังพล ใช้กฎหมายควบคุม แต่ก็ไม่สัมฤทธิผล เพราะขาดปฏิสัมพันธ์ความไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้นรัฐต้องมีนโยบายช่วยเหลือเป็นรูปธรรม ต้องลงมาเรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี และวิถีชีวิตของเขาด้วยความจริงใจ
ผมขอช่วยอีกแรงฝากกรอบแนวคิดนี้เพื่อกระตุกสังคมให้ฉุกคิดด้วยครับ.
ลมกรด