ในที่สุดก็ถึงเวลาอันเหมาะสม สี่รัฐมนตรีผู้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ตัดสินใจลาออก แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้บังคับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขาธิการพรรค พปชร.ชี้แจงว่า ไม่เคยมีรัฐมนตรีลาออกหลังมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง แต่พวกตนเห็นว่าควรสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมือง

การลาออกของสี่รัฐมนตรีอาจไม่ใช่การสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมือง แต่เนื่องจากถูกกดดันจากหลายฝ่าย และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจรัฐ เพื่อเอื้อการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่ยอมรับว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลอำนาจเต็ม สามารถใช้เงินภาษีประชาชนเอื้อการเลือกตั้งได้ ส่วนพรรคคู่แข่งอื่นๆถูกห้ามแม้แต่การให้เงินช่วยงานศพ

แม้สี่รัฐมนตรีจะลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีโดยเด็ดขาด จึงเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และเชื่อว่าจะเป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อของพรรค พปชร. เดินหน้าสู่การเลือกตั้งเต็มตัว โดยจะไม่เลือกแนวทางที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

นักวิชาการส่วนใหญ่เป็นห่วงว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะเป็นนายกฯตามบัญชีของพรรคการเมือง จะต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.อย่างน้อย 126 เสียงขึ้นไป รวมกับ ส.ว.แต่งตั้งในมืออีก 250 เสียง เป็น 376 เสียง เป็นเสียงข้างมากของสองสภา จะเป็นผู้ชนะมติการเลือกนายกฯ แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ออกกฎหมายไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้

แต่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้อย่างดี โดยหมกเม็ดอำนาจ ส.ว.ไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ที่ระบุว่าการเสนอและพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ให้กระทำในที่ประชุมร่วมสองสภา ทำให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมลงมติในร่างกฎหมาย ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นเรื่องปฏิรูปประเทศ เป็นเรื่องครอบจักรวาล

...

ตัวอย่างเช่นรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และอ้างว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพราะถ้าไม่มีงบประมาณรายจ่าย จะปฏิรูปประเทศได้อย่างไร เรื่องนี้ลอกแบบมาจากรัฐธรรมนูญ 2521 ฉบับสืบทอดอำนาจและประชาธิปไตยครึ่งใบที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมประชุมกับ ส.ส. เพื่อพิจารณาลงมติในร่างกฎหมายที่รัฐบาลอ้างว่า “สำคัญ”

เช่นร่างกฎหมายที่รัฐบาลอ้างว่า เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือเศรษฐกิจของประเทศ ส.ว.แต่งตั้งจึงค้ำจุนให้รัฐบาลบริหารประเทศได้นาน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ลอกเลียนมาในเรื่องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฉะนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจถูกอภิปรายล้มรัฐบาลได้ทันที ทางที่ปลอดภัยที่สุด ต้องมี ส.ส.สนับสนุนอย่างน้อย 251 เสียงขึ้นไป.