กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการก่อเหตุแบบดาวกระจาย ในเขตจังหวัดนราธิวาส คืนเดียว 4 อำเภอ และ 8 จุด เช่น บุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และเจาะรั้วกำแพงเพื่อโจมตีฐานปฏิบัติการคุ้มครองตำบลกาลิซา อ.ระแงะ ปาระเบิด 32 ลูกถล่มฐานปฏิบัติการ ประชาชนโดนลูกหลงบาดเจ็บ 5 คน
การบุกโจมตีฐานปฏิบัติการคุ้มครอง เป็นการแสดงศักยภาพอวดชาวโลกว่าพวกตนสามารถบุกได้ทุกที่ ทุกเวลา สวนทางกับคำกล่าวอ้างของรัฐบาล คสช. ที่อ้างว่าผลงานเด่นที่สุดของรัฐบาล คือการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่แท้ที่จริงไฟใต้ยังลุกโชนอยู่ใน 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่ คสช.ยึดอำนาจ ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
คำว่า “ความสงบเรียบร้อย” ผลงานสำคัญของรัฐบาล จึงมีความหมายแต่เพียงว่าไม่มีการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ส่วนไฟใต้รอบใหม่ครบรอบ 15 ปีเต็ม นับแต่วันที่กลุ่มคนร้ายปลุกปล้นอาวุธที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในเดือนมกราคม 2547 จนถึงวันนี้ ต้องสังเวยด้วยชีวิตของหลายฝ่ายกว่า 7 พันราย
รัฐบาล คสช.เคยสัญญาว่าจะรีบดับไฟใต้โดยเร็ว ทำให้ประชาชนมีความหวัง เพราะเชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาด คุมทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ อีกทั้งยังสานต่อการพูดคุยสันติสุข แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาชายแดนใต้ระบุว่าเป็นการเจรจาผิดตัว เพราะเจรจากับผู้แทนกลุ่ม “มาราปาตานี” ไม่ได้พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นผู้คุมกำลังตัวจริง
ประเทศไทยมีความหวังที่จะยุติความรุนแรงในภาคใต้มากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และสัญญาว่าจะช่วยเหลือทุกวิถีทางเพื่อดับไฟใต้ มหาธีร์เสนอแนะว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยควรจะให้อำนาจปกครองตนเองบางส่วนแก่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบคิดแบ่งแยกดินแดน
แนวความคิดเรื่องการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ชอบคำว่า “เขตปกครองตนเอง” แต่อยากให้เรียกว่า “การกระจายอำนาจ” สู่ประชาชนในท้องถิ่น แต่ไม่ชัดเจนว่าจะต้องกระจายมากน้อยแค่ไหน คงจะไม่ใช่แค่การกระจายอำนาจแบบในปัจจุบัน
ผู้สันทัดกรณีไฟใต้ฟันธงว่า
...
ถ้าไม่เจรจากับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น รับรองว่าต้องล้มเหลวแน่ ความหวังจึงอยู่ที่ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาคนใหม่ของมาเลเซียที่รับปากว่าจะนำกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมพูดคุยให้ได้ แต่มีปัญหาว่าฝ่ายรัฐบาลไทย “เข้าใจและเข้าถึง” ปัญหาไฟใต้หรือไม่ พร้อมที่จะคิดนอกกรอบ และยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นมากน้อยแค่ไหน.