ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความถูกต้องเหมาะสม และเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ลาออกจากรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ยอมรับว่าทำงานยากขึ้น ตั้งแต่ตัดสินใจลงการเมืองแบบนี้ ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม และจะต้องทำให้ดีกว่ามาตรฐานที่เคยทำกันมา
มีความไม่ดีทางการเมืองในอดีตหลายอย่างที่นักการเมืองปัจจุบันอาจทำได้ดีกว่า เช่น ความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น การช่วงชิงอำนาจที่ไม่รู้แพ้รู้ชนะ การเล่นการเมืองข้างถนน และการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น แต่มีบางอย่างที่นักการเมืองจากรัฐบาล คสช.ไม่สามารถทำได้ดีกว่าเดิม เช่น การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่สง่างาม
เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. ไม่ใช่ “นายกฯคนนอก” แต่คณะรัฐมนตรีปัจจุบันหมดโอกาสที่จะทำ เพราะถ้าจะสมัคร ส.ส.จะต้องลาออกภายใน 90 วัน หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหมดเวลาแล้ว จึงต้องทำตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะมีผู้ท้าชิงนายกรัฐมนตรีนับร้อย
มาตรฐานที่สำคัญที่สุดที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปัจจุบันสามารถทำได้ดีกว่า คือการไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐและบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดๆอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่นักการเมืองรุ่นก่อนๆต้องปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณี เช่น ไม่มีการอนุมัติโครงการและงบประมาณใหม่ๆที่ถูกมองว่าหาเสียง
การเดินสาย ครม.สัญจรตามจังหวัดต่างๆ เพื่อพบประชาชนและชี้แจงนโยบายรัฐบาล และอนุมัติงบประมาณครั้งละนับหมื่นนับแสนล้านบาท หรือการอนุมัติโครงการใหม่ เช่น การตั้งสภาพัฒนาตำบล ทั่วประเทศประมาณ 7,800 ตำบล และใช้งบเริ่มต้น 2,000 ล้านบาท แจกให้ 10 จังหวัดยากจน ตำบลละ 500,000 บาท จะถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรรัฐเพื่อหาเสียงหรือไม่
...
ขณะนี้เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่าแม้แต่ชื่อพรรค คือ “พลังประชารัฐ” ซึ่งตรงกับชื่อโครงการต่างๆของรัฐบาล เป็นการจงใจใช้ชื่อตรงกันหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสับสน และเข้าใจว่าโครงการประชานิยมต่างๆของรัฐบาล เป็นผลงานของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเพิ่งตั้งและยังไม่ได้เป็นพรรคเต็มตัว แบบนี้เป็นมาตรฐานที่ดีกว่าอดีตหรือไม่
การกระทำหลายอย่างอาจไม่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่รัฐบาล คสช.เขียนขึ้นมาเอง เช่นข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลนี้ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ มีอำนาจเต็ม ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ แต่อาจเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ขาดความชอบธรรม ขัดหลักธรรมาภิบาล และสวนทางกับการเลือกตั้ง ที่สุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่.