เมื่อ 2 วันก่อน ข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายงาน ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของกัมพูชา ซึ่งเรียนจบปริญญาเอก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันนี้ (4 ตุลาคม)
โดยระบุรายละเอียดว่า นาย ฮาง ชวน นะรน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา เยาวชนและการกีฬา สำเร็จการศึกษาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา หลังจากใช้เวลาในการทำวิทยานิพนธ์ 2 ปี เป็นภาษาอังกฤษ ในที่สุดก็สามารถผ่านคณะกรรมการและกฎเหล็กอันเข้มข้นของหลักสูตรนี้เป็นที่เรียบร้อย
ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของผม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ที่ผมเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ หลังจากได้รับเชิญไปพนมเปญและมีโอกาสได้สัมภาษณ์รัฐมนตรีหลายๆท่านของรัฐบาลกัมพูชา ใน พ.ศ.ดังกล่าว
ขอถือโอกาสคัดลอกข้อเขียนบางตอนมาทบทวนความจำท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้นะครับ
“วันนี้ขออนุญาตเขียนถึงรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่ง ที่ผมเห็นว่าเป็นคนหนุ่มที่น่าจับตา และเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีรุ่นใหม่ที่มีอนาคตไกลของประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศนี้
ฯพณฯ ฮัง ชวน ณารอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาของกัมพูชาครับ อายุเพิ่ง 53 ปีเท่านั้น
โดยประวัติรัฐมนตรีศึกษาธิการกัมพูชาท่านนี้ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากประเทศรัสเซีย ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทยเรานี่เอง อีกไม่นานนักคงจบได้ด็อกเตอร์ดีกรีที่สอง
หลังจากจบเอกจากรัสเซียแล้ว ท่านก็กลับมารับราชการในสายเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชามาโดยตลอด เคยเป็นปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา และเคยเป็นเลขาธิการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติกัมพูชามาแล้วด้วยซ้ำ
การที่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แต่งตั้งท่านให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่กระทรวงนี้ โดยไม่ถือว่าเป็นกระทรวงตอบแทนหรือให้บำเหน็จรางวัลแก่พรรคการเมือง เช่นประเทศไทยเราสมัยหนึ่ง
...
ที่มักจะให้นักการเมืองที่ไหนก็ไม่รู้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ของเขาตัดสินใจเลือกนักเศรษฐศาสตร์มาเลย แล้วก็ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์มือใหม่จบมหาวิทยาลัยหมาดๆ อะไรที่ไหน แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์ เคยเป็นถึงข้าราชการระดับปลัดกระทรวงการคลังและเลขาธิการสภาพัฒน์ของเขามาแล้ว
เมื่อมาอยู่กระทรวงศึกษาฯ ในปี 2556 เป็นปีแรก ท่านก็พิจารณาขึ้นเงินเดือนครูเป็นประการแรก เพราะท่านตระหนักดีว่าความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่ครู
ในข้อเขียนของคุณ “สายล่อฟ้า” ที่ไปเขมรกับผมด้วยครั้งนี้ ฉบับเมื่อวานได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้แล้ว ผมขอนำมากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เงินเดือนครูที่เขมรจะสูงกว่าข้าราชการอื่นๆในระดับเดียวกัน
ส่งผลให้สังคมเขมรเริ่มที่จะส่งลูกเรียนครูกันแล้ว รวมทั้งคนเก่งๆ ก็หันมาเรียนครูมากขึ้น ต่างกับสมัยก่อนที่คนเขมรก็คล้ายๆคนไทยคือส่งลูกที่เรียนเก่งสุดไปเรียนวิชาชีพอื่นๆ และลูกที่อ่อนสุดให้ไปเรียนครู
แต่เดี๋ยวนี้ท่านบอกว่าทุกๆอย่างเริ่มเปลี่ยนเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเขมรเริ่มหันมาส่งลูกที่เรียนเก่งไปเรียนครูมากขึ้น เพราะรายได้เงินเดือนดีกว่า”
ครับ! ที่ผมหยิบยกมาทั้งหมดข้างต้นนี้ก็คือบางส่วนของข้อเขียนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในคอลัมน์นี้ ซึ่งบัดนี้ก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องเขียนถึงท่านอีกครั้งเพื่อแสดงความยินดีกับท่านใน 2 ประการด้วยกัน
ประการแรก ยินดีกับการเรียนจบได้รับปริญญาเอกแผ่นที่ 2 จากมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งตามข่าวบอกว่าจบยากมากๆ
ส่วนประการที่ 2 ยินดีที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา เยาวชนและการกีฬา ของกัมพูชาอีกวาระหนึ่ง หลังจากรัฐบาลของ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คราวนี้ไม่ต้องห่วงละครับว่าจะมีใครมาว่าว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์จะรู้เรื่องการศึกษาได้อย่างไร...เพราะท่านจบ ป.เอกด้านบริหารการศึกษาเรียบร้อยแล้ว...เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯได้สบายมาก.
“ซูม”